นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 32.84 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 32.90 บาท/ดอลลาร์
หลังมีแรงขายดอลลาร์จากผู้ส่งออกทองคำ สวนทางกับตลาดโลกที่ดอลลาร์ยังคงปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง เพราะมีความกังวลเรื่องตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐสูงขึ้นจนเกรงกันว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็ว
กว่ากำหนดเดิม
“บาทปรับตัวแข็งค่าจากเย็นวานนี้หลังมีแรงขายดอลลาร์จากผู้ค้าทองคำ สวนทางกับตลาดโลกที่ดอลลาร์แข็งค่า” นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 32.70 – 32.90 บาท/ดอลลาร์ โดยต้องติดตามทิศทางของเงินทุนต่างประเทศจากผู้ค้าทองคำ หลังราคาทองปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 15 ดอลลาร์/ออนซ์
THAI BAHT FIM 3M (11 พ.ย.) อยู่ที่ระดับ 0.30295% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.33727%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 114.18 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 114.07 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1446 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.1460 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 32.883 บาท/ดอลลาร์
- การประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันนี้ มีวาระสำคัญหลายเรื่อง เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาด, แฟคทอรี่ แซนด์บ็อกซ์ ระยะ 2, การฉีดวัคซีน, แนวทางนำแรงงานต่างด้าวเข้าไทย และการปรับระดับเพิ่มลดพื้นที่ตามสถานการณ์การแพร่ระบาด
- สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เตรียมแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/64 โดยมีผลสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า สภาพัฒน์จะเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจหดตัว -0.8% ในไตรมาส 3/64เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/63 หลังจากขยายตัว +7.5% ในไตรมาส 2/64
- ส.อ.ท.กำลังติดตาม 3 ปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการผลิตและเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดเนื่องจากจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตในภาพรวมที่ต้องปรับตัวสูงขึ้นและสะท้อนไปยังราคาสินค้าที่อาจบั่นทอนแรงซื้อประชาชนที่ลดลงได้ ประกอบด้วย ต้นทุนวัตถุดิบทั้งสินค้าโภคภัณฑ์การเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้ากลางน้ำและปลายน้ำทยอยปรับราคา, แรงงานต่างด้าวขาดแคลนจากผลกระทบของโควิด-19 และอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าและผันผวนที่กระทบต่อการนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบและพลังงาน
- ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดแนวทางการจ่ายเงินปันผลประจำปี 64 โดยพิจารณาจากผลการประเมิน เพื่อทดสอบระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ภายใต้ภาวะวิกฤต (stress test) ในช่วงปี 64-66 พบว่าระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความแข็งแกร่งเพียงพอรองรับสถานการณ์ดังกล่าวได้ ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ได้เพิ่มความระมัดระวังด้วยการทยอยตั้งสำรองและสะสมเงินกองทุนมา
โดยตลอด ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีอัตราการกันเงินสำรองสูงถึง 1.55 เท่าของสินเชื่อด้อยคุณภาพ และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 19.9% ณ สิ้นไตรมาส 3/64 - ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (11 พ.ย.) โดยดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า การพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 6 เมื่อคืนนี้ (11 พ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเดินหน้าเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี
- FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งวิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนก.ค.2565 จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนก.ย.2565
- ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนก.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนพ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ย. 64)
Tags: ค่าเงินบาท, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, เงินบาท