กอนช.เร่งระบายน้ำลุ่มเจ้าพระยา-ป่าสัก-ท่าจีน รับมือน้ำทะเลหนุนสูงช่วง 20-27 พ.ย.

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มสถานการณ์ฝนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในพื้นที่ตอนบนและตอนกลางของประเทศ ส่งผลให้ปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท อยู่ที่ 1,889 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และมีทิศทางลดลง ทำให้สามารถสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ และทุ่งรับน้ำได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ทุ่งผักไห่ ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งเจ้าเจ็ด

ประกอบกับทิศทางน้ำทะเลหนุนช่วงนี้ อยู่ในช่วงขาลงประมาณ 10 วัน ซึ่งหน่วยงานเกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการเพิ่มเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังริมแม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก และท่าจีน ที่ปัจจุบันมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งทั้งหมดแล้ว เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยเร็วก่อนวันที่ 20 – 27 พ.ย.นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้งในช่วงดังกล่าวที่อาจะส่งผลต่อการระบายน้ำได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงดังกล่าวที่จะมีน้ำทะเลหนุนสูง และป้องกันไม่ให้ประชาชนริมน้ำได้รับผลกระทบ กอนช.ได้ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง และหน่วยงานท้องถิ่น เตรียมการป้องกันในจุดที่ไม่มีคันกั้นน้ำ จุดเปราะบางต่างๆ ทั้งในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล รวมทั้งสำรวจและดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมคันกั้นน้ำในจุดที่ชำรุดให้กลับมาใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพโดยเร็วที่สุด

“สถานการณ์น้ำท่วมในภาพรวมขณะนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำต่างๆ มีทิศทางที่ลดลงแล้ว ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ป่าสัก และท่าจีน แต่ยังคงมีจุดที่ยังมีน้ำท่วมขัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคอีสาน ลุ่มน้ำชีมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมชลประทานเตรียมปรับลดบานระบายน้ำของเขื่อนบริเวณต้นน้ำชี ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.นี้ เป็นต้นไป เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง ส่วนลุ่มน้ำมูลระดับน้ำสูงสุด ปัจจุบันอยู่ที่สถานี M.7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี แล้ว ซึ่งศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) จ.อุบลราชธานี ได้เร่งระบายท้ายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ”

นายสุรสีห์ กล่าว

สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี ส่งผลให้ห้วยแม่ประจันต์มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นและต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ขณะที่แม่น้ำเพชรบุรี มีจุดต้องเฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ บริเวณ อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด และ อ.เมืองเพชรบุรี ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนการระบายน้ำจากพื้นที่ผ่านคลองสายต่างๆ เพื่อลดปริมาณน้ำในลำน้ำรองรับปริมาณฝนที่จะตกเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ โดยได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำบริเวณ อ.เมืองเพชรบุรี และ อ.บ้านแหลม เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ลงแม่น้ำเพชรบุรี

รวมถึงปิดการระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจาน พร้อมพิจารณาผันน้ำเข้าระบบส่งน้ำฝั่งขวาและฝั่งซ้ายประมาณ 150 ลบ.ม./วินาที ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำที่เหลือจะไหลผ่านเขื่อนเพชรประมาณ 350 ลบ.ม./วินาที ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ แต่คาดการณ์ว่า อ.บ้านลาด บริเวณสถานีวัดน้ำ B16 บ้านลาด จะล้นตลิ่งประมาณ 40 – 60 เซนติเมตร โดย กอนช.เน้นย้ำให้มีการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ท้ายน้ำที่อาจะได้รับผลกระทบล่วงหน้าอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน แต่คาดว่าปีนี้ลุ่มน้ำเพชรบุรีจะไม่รุนแรงเท่าปี 2560 จากการเตรียมความพร้อม รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม สทนช.ได้เน้นย้ำข้อสั่งการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ให้ทุกหน่วยงานดำเนินการ 10 มาตรการรับมือฤดูฝน โดย สทนช.ได้มอบหมายสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 4 (สทนช.ภาค 4) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ดำเนินการ 4 แผนเร่งด่วน ได้แก่

1. การบริหารจัดการน้ำเขื่อนต่างๆ ที่มีความเสี่ยงน้ำมาก ทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง โดยล่าสุด สทนช.ภาค 4 ได้มีการหารือร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีข้อสรุปให้พร่องน้ำเขื่อนบางลาง จ.ปัตตานี ล่วงหน้าเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างฯ

2.ติดตามตรวจสอบระบบการแจ้งเตือนภัยให้พร้อมใช้งาน

3.การเตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทั้งจุดอพยพ และแผนเผชิญเหตุโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)

4. สำรวจตรวจสอบสภาพเครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ รวมถึงจุดติดตั้งเครื่องมือที่ชัดเจน โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่มักได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมซ้ำซากด้วย

ทั้งนี้ หากสถานการณ์น้ำหลากมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบขยายวงกว้าง กอนช.จะพิจารณาเปิดศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ (ส่วนหน้า) จ.สุราษฏร์ธานี ให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพ และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้น้อยที่สุดต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ย. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top