นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวถึงเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ว่า เป็นสถานการณ์ในระยะสั้น เพราะหากเทียบกับต้นปี 64 เงินบาทในปัจจุบันได้อ่อนค่าลงไปกว่า 6-7% (ข้อมูล ณ 5 ม.ค.64 เงินบาทอยู่ที่ระดับ 29.90 บาท/ดอลลาร์) ดังนั้น จึงเชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อการขยายตัวของการส่งออกไทยในปีนี้
โดยเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงสั้นๆ เป็นผลจากเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่ทั้งนี้ ยังไม่เป็นประเด็นที่ผิดปกติทั้งฝั่งของเงินทุนไหลเข้าและไหลออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก หลังจากที่ธนาคารกลางของหลายประเทศเริ่มปรับท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงิน จึงอาจเห็นผลกระทบที่มีต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย และค่าเงิน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในระยะนี้
อย่างไรก็ดี หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้เดิมในช่วงปลายปี 65 จะส่งผลต่อการปรับนโยบายการเงินของไทยหรือไม่นั้น นายปิติ เชื่อว่า เฟดจะไม่เซอร์ไพร์สตลาด ความเสี่ยงด้านนี้จะมีน้อย แต่หากเฟดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยจริง ก็อาจจะเกิดความผันผวนขึ้นในตลาดการเงินโลก รวมถึงกระทบกับไทยในเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้าย อัตราแลกเปลี่ยน และผลตอบแทนในตลาดพันธบัตร ซึ่งยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม
“แต่เชื่อว่าเฟดจะไม่เซอร์ไพร์สตลาด เพราะเขาจะพยายามสื่อสารล่วงหน้า คิดว่าความเสี่ยงด้านนี้จะน้อย ถ้าเกิดขึ้นจริงคงกระทบไทยในแง่ของเงินทุนเคลื่อนย้าย ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน และอัตราผลตอบแทนตลาดพันธบัตร ต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไร ธปท. ก็พร้อมจะรองรับกับสถานการณ์นั้น” เลขานุการ กนง.ระบุ
นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุด กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ 0.7% และปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.9% พร้อมคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 ที่ 1.5 แสนคน และปี 2565 ที่ 6 ล้านคน ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ล่าสุดเมื่อเดือนก.ย. 64 ส่วนจะมีการปรับประมาณการใหม่หรือไม่นั้น กนง. จะได้พิจารณาอีกครั้งในการประชุมเดือน ธ.ค. 64
“เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังไมีอะไรเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะมีพัฒนาการจากการเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยว อัตราการฉีดวัคซีนเร็วกว่าที่คาด แต่ปัจจัยเรื่องราคาน้ำมัน ต้นทุนการผลิตก็ไปลดทอนการขยายตัวในระดับหนึ่ง 2 ปัจจัยนี้จึงเจ๊ากันไป ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ และปีหน้าจึงจะไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก” นายปิติ ระบุ
อย่างไรก็ดี ในการประชุม กนง.ครั้งต่อไป จะมีการปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากเดิมปี 2564 ที่ 1% และปี 2565 ที่ 1.4% ตามพัฒนาการตลาดแรงงานในโลกที่ปรับตัวดีขึ้น แต่คงไม่ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากรัฐบาลใช้มาตรการตรึงราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันดีเซล และค่าไฟฟ้า เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชน และส่งผ่านไปถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไป
ส่วนปัจจัยเรื่องการปรับขึ้นอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะส่งผลต่อการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ แม้ว่าธนาคารกลางหลายประเทศ จะติดตามอัตราเงินเฟ้อและเริ่มปรับทิศทางนโยบายการเงินแล้วนั้น เลขานุการ กนง. กล่าวว่า ในส่วนของไทยมีบริบทที่แตกต่างจากต่างประเทศ เพราะขณะนี้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ และแนวโน้มก็ยังไม่ต่ำกว่าเป้าหมาย ประกอบกับเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และยังฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นเล็กน้อย ดังนั้นการพิจารณาปรับนโยบายการเงินจึงต้องติดตามอีกสักระยะหนึ่ง
“เศรษฐกิจของเรายังเพิ่งก้าวสู่การฟื้นตัว ต่างจากบางประเทศที่ฟื้นมาแล้วสักพัก เรายังฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะฉะนั้น การที่เงินเฟ้อจะมาเป็นแรงกดดันให้ปรับนโยบายการเงิน คงต้องดูอีกสักพัก ตอนนี้ ยังไม่มีประเด็นให้เห็น” นายปิติ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ย. 64)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, นโยบายการเงิน, ปิติ ดิษยทัต, เงินบาท, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย