นายคณิศร์ แสงโชติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมงานวิจัย ร่วมกับฝ่ายวิจัยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง “Digital Assets in Thailand: Insights from transaction-level exchange data” ว่า
งานวิจัยดังกล่าวนำข้อมูลการซื้อขายจาก Exchange ที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. มาฉายภาพให้เห็นถึงภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล และพฤติกรรมของผู้ใช้งาน โดยแบ่งออกเป็น 4 ข้อหัว ได้แก่
- Digital Assets Market in Thailand หรือภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย
- Exchanges : Bid-Ask Spread & Price Discovery หรือวิเคราะห์ส่วนต่างของราคาซื้อ ราคาขาย และความเร็วของการปรับตัวของราคาในตลาด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลก
- User: Disposition Effect วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ซื้อขาย โดยเฉพาะการรีบขายกำไร
- Conclusion & Implications สรุปผลงานวิจัย
นายฐิติพงศ์ อมรธรรมนิยม เจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายวิจัย สำนักงานก.ล.ต. กล่าวถึงสภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลว่า ปัจจุบันตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีการเติบโตอย่างมาก โดยมีมูลค่าตลาด (Market Cap) สูงถึง 77.57 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 4 เท่าของ GDP ประเทศไทย ขณะที่ยังมีเหรียญ (Coins) ในปัจจุบันมากถึง 12,580 Coins เพิ่มขึ้นจากในอดีตที่มีไม่ถึง 10 Coins และมีผู้ให้บริการการซื้อขาย (Exchanges) ทั้งหมด 413 แห่ง
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบระหว่างตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยกับตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) พบว่า มูลค่าการซื้อขายรายวันเฉลี่ย ของตลาดหุ้นไทยมีมากกว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลถึง 10 เท่า โดยตลาดหุ้นนั้นมีมูลค่าการซื้อขายรายวันเฉลี่ยอยู่ที่ 89,000 ล้านบาท แต่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ที่ 6,600 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในแง่ของ Fund Flow ต่างชาติ พบว่าต่างชาติได้มีการขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องมาหลายปี และในปีนี้ก็ยังคงขายสุทธิ โดยอยู่ที่ประมาณ 72,000 ล้านบาท ส่วนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล มีการขายสุทธิประมาณ 17,000 ล้านบาท ด้านการเปิดบัญชีซื้อขาย ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา มีการเปิดบัญชีซื้อขายในตลาดหุ้นไปทั้งหมด 4.84 ล้านบัญชี แต่ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีการเปิดให้บริการมาประมาณ 3 ปี มีการเปิดบัญชีทั้งสิ้น 1.49 ล้านบัญชี ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลาดดังกล่าวมีการเติบโตเป็นอย่างมาก รวมถึงจำนวนสินทรัพย์ พบว่ามีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 582 บริษัท ขณะที่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล มีจำนวนสินทรัพย์ทั้งหมด 183 Coins โดยหลักๆ ที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ซื้อขายคนไทย เรียงตามลำดับเหรียญที่มีมูลค่าการซื้อขายสูง ได้แก่ Bitcoin, Dogecoin, Ethereum, Tether และ XRP เป็นต้น ซึ่งแต่ละเหรียญนั้น ก็มีคุณสมบัติค่อนข้างหลากหลาย เช่น เป็นเหรีญที่อยู่มานานแล้ว บางเหรียญเน้นเรื่อง Smart contract หรือเป็นลักษณะ Meme coin และ Stablecoin
พร้อมกันนี้จำนวนบัญชีที่ Active ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ถือว่ามีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคา Bitcoin เห็นได้จากในเดือนพ.ค.64 มีจำนวนบัญชีที่ Active 5 แสนบัญชี และราคา Bitcoin ก็อยู่ในช่วงขาขึ้น หรือเป็น Bull Market กลับกันในช่วงเดือนก.ค. มีบัญชีที่ Active ไม่ถึง 3 แสนบัญชี ช่วงนั้นราคา Bitcoin อยู่ในแนวโน้มขาลง หรือ Bear Market และจะเห็นได้ว่าบัญชีที่ Active นั้นมาจากบุคคลธรรมดาในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และมีส่วนน้อยที่มาจากบุคคลธรรมดาในต่างประเทศ
นายรุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดในงานวิจัย ภายใต้หัวข้อ Exchanges : Bid-Ask Spread & Price Discovery จะเป็นการวัดประสิทธิภาพของ Exchanges ในประเทศไทย โดยจะแบ่งการวัดประสิทธิภาพออกเป็น 2 มิติ ได้แก่ 1.Bid-Ask Spread ความกว้างของราคาที่ดีที่สุด ที่สามารถซื้อได้และขายได้ โดยประสิทธิภาพที่ดีจะหมายถึง Exchanges จะต้องมี Bid-Ask Spread ที่แคบ เพื่อให้นักลงทุนสามารถซื้อขายที่ไม่เสียเปรียบมากนัก 2. Price Discovery มีการเปลี่ยนแปลงที่เคลื่อนไหวรวดเร็วแค่ไหน เมื่อเทียบกับหลักทรัพย์นั้นๆ ในต่างประเทศ
อนึ่ง งานวิจัยฯ เป็นการนำข้อมูลตั้งแต่เดือนพ.ย.63 ถึงก.ค.64 รวมถึงใช้เหรียญ Bitcoin, Ethereum, XRP มาใช้ในการศึกษา เนื่องจากอยู่ในลำดับ TOP5 ที่มีการซื้อขายสูงสุด และสามารถเปรียบเทียบกับตลาดอื่นๆ ได้
ผลของงานวิจัยดังกล่าว พบว่า Bid-Ask Spread ของไทยโดยเฉลี่ยจะมี Bid-Ask Spread อยู่ที่ 0.5-1.0% ซึ่งอยู่ในระดับที่กว้างเมื่อเทียบกับในตลาดโลก แต่ไม่ได้กว้างมากนักเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นไทยที่มี Bid-Ask Spread อยู่ที่ 0.25% และ Bid-Ask Spread ของไทยจะค่อนข้างดีในช่วง 10.00-18.00 น. และค่อนข้างแย่ในช่วง 3.00-6.00 น. ส่วนในมุมของ Price Discovery มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง ที่การตั้ง Offer ของไทย มีการตั้งของราคาที่สูงไปเล็กน้อย ทำให้ฝั่ง Bid ซื้อยาก และพยายาม Bid ไล่ราคา ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนใน Exchanges ไทย รวมถึงในช่วง aggressive ตลาดในไทยค่อนข้างจะซื้อนำตลาดโลกไปเล็กน้อย
“ประสิทธิภาพของ Exchanges ไม่ได้หมายความว่าตลาดของเราดีหรือไม่ดี บางครั้งอาจจะเป็นประเด็นของนักลงทุน หรือพฤติกรรมของนักลงทุนก็ได้”
นายรุ่งเกียรติ กล่าว
นายคณิศร์ กล่าวว่า ส่วน Disposition Effect พฤติกรรมของนักลงทุน ที่ส่วนใหญ่จะรีบขายกำไร มากกว่าขายขาดทุน ซึ่งพบได้มากในการลงทุนในหลายสินทรัพย์ ทั้งหุ้น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ และ Digital Assets เนื่องจากกลัวการไม่มีกำไร แต่เมื่อขาดทุนจะมีความกล้าได้กล้าเสียขึ้นมา รวมถึงยังมีอารมณ์เข้ามามีส่วนประกอบด้วย
ผลการวิจัยในส่วนนี้ พบว่า พฤติกรรมการรีบขายกำไร มีส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์ที่พบได้ในสินทรัพย์ในหลายประเภท และในสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย โดยปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับ Disposition Effect ก็มีหลายปัจจัยเช่น ขนาดของ Portfolio ถ้าขนาดยิ่งใหญ่จะมีผลต่อ Disposition Effect น้อย, มีประสบการณ์ที่มาก ยิ่งซื้อขายไม่ถี่ ขณะที่กลุ่มขนาดกลาง หรือมีเงินลงทุนตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท ถือว่ามี Disposition Effect มากที่สุด ซึ่งนับเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของผู้ซื้อขายทั้งหมด
อย่างไรก็ตามผลสรุปของงานวิจัยในเรื่องนี้ โดย Bid-Ask Spread และ Price Discovery พบว่า Spread มีความแตกต่าง ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนทางอ้อมของผู้ใช้งานในการซื้อขาย และพบถึงความแตกต่างของความเร็วในการปรับตัวด้วย ซึ่งอาจจะเป็นมิติที่ Exchanges สามารถใช้ในการแข็งขันกันได้ ส่วน Disposition Effect พบว่า พฤติกรรม และจิตวิทยาของมนุษย์ หรืออารมณ์ ส่งผลกระทบต่อธุรกรรมทางการเงิน
ด้านนายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ในฐานะผู้วิจารณ์ผลงาน กล่าวว่า ในเชิงของงานวิจัยคงไม่มีอะไรที่จะมาวิจารณ์ เพราะมีข้อมูลพื้นฐานรองรับอยู่แล้ว แต่อยากให้ทบทวนถึงเรื่องที่ตลาดจะไปในทิศทางไหนมากกว่า ซึ่งเรื่องของ Bid-Ask Spread & Price Discovery หากมองเป็นเครื่องมือในการสื่อสารของราคาระหว่างคนทั่วๆไป จริงๆ แล้วควรจะต้องเท่ากัน คล้ายกับระดับน้ำ ถ้าไหลมาเร็วแปลว่ามีประสิทธิภาพ ถ้าไหลมาช้าก็ไม่น่าจะมีประสิทธิภาพ ก็น่าจะสะท้อนภาพบางอย่างในเรื่องของราคาได้ แต่เมื่อพูดถึงเรื่องของการเทรด ก็มีปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลโดยตรง คือ เรื่องของ Liquidity ซึ่งอยากให้มองตรงนี้เป็นประเด็นหลัก
“ถ้าอยากให้ตลาดมี effeciency อยากให้มีในแง่มุมไหน เพราะในโลกของอุตสาหกรรมคริปโตเคอเรนซีมันกว้างมาก ถ้าเรามองว่าเป็นมหาสมุทร และให้ราคาเท่าระดับน้ำในมหาสมุทร ปัจจุบันเรามีตลาดเมืองไทย และเราเอากำแพงไปกั้นไว้อยู่ มันมีอัตราที่น้ำไหลเข้ามาในอ่าวไทย มันน่าจะมีจุดที่มีแรงเสียดทาน ที่ทำให้การไหลเข้ามาได้ช้าหรือไม่ ซึ่งอาจจะต้องกลับไปดูว่า Liquidity มันติดที่ตรงไหน ถ้าอยากให้สะท้อนกับตลาดโลก”
นายศุภกฤษฎ์ กล่าว
งานวิจัยดังกล่าว ได้บอกเพียงบางเรื่องในเรื่องของราคา ซึ่งก็เหมือนน้ำในมหาสมุทร แต่นอกเหนือไปกว่านั้นสิ่งที่เป็นระบบนิเวศน์ที่อยู่ใต้ระดับน้ำ หรือในแง่มุมของเทคโนโลยี ยังไม่มีการส่งเสริมมากนัก จะทำอย่างไรที่จะทำให้มันมีประโยชน์ต่อประเทศ หรือการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ย. 64)
Tags: Cryptocurrency, ก.ล.ต., คณิศร์ แสงโชติ, คริปโทเคอร์เรนซี, ฐิติพงศ์ อมรธรรมนิยม, รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น, ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์, สินทรัพย์ดิจิทัล