ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ทิศทางการฟื้นตัวของตลาดไทยเที่ยวไทยในปี 2565 ซึ่งประเมินสถานการณ์ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ โดยมีปัจจัยสำคัญอย่างการระบาดของโควิดในประเทศ มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อและการท่องเที่ยว รวมถึงปัจจัยในด้านเศรษฐกิจภาคครัวเรือน กำลังซื้อของประชาชนที่จะมีผลต่อการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 ภายใต้เงื่อนไขที่สถานการณ์โควิดในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากในช่วงปลายปี 2564 และไม่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศจนกระทบการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ขณะที่ปัจจัยด้านราคาพลังงานไม่ได้ปรับสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อราคาค่าโดยสารอย่างตั๋วเครื่องบิน การฟื้นตัวของตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะทยอยกลับมา
หากสถานการณ์ต่างๆ เป็นไปตามที่ได้ประเมินไว้ข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2565 การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยน่าจะมีจำนวน 155 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 133.1% จากปี 2564 โดยการฟื้นตัวยังต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งคนไทยเที่ยวไทยมีจำนวน 172.7 ล้านคน-ครั้ง เนื่องจากมองว่า ในช่วง 2-3 เดือนแรกของปี 2565 สถานการณ์โควิดน่าจะยังมีผลต่อการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม ขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวทั่วถึง และกำลังซื้อของประชาชนบางกลุ่มยังไม่กลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ ทำให้
จำนวนครั้งในการเดินทางจะปรับลดลง
สำหรับด้านการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวในประเทศ จะมีมูลค่าประมาณ 698,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 134.9% จากปี 2564 โดยค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปในกรณีนี้ จะปรับขึ้นเล็กน้อยจากปี 2564 เนื่องจากสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ น่าจะเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นขณะที่นักท่องเที่ยวอาจคลายความกังวลจากโควิด และกลับไปนั่งทานอาหารในร้านท้องถิ่นและกิจกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
กรณีที่ 2 ความเสี่ยงการระบาดของโควิดที่อาจจะพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่ม จนส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในบางช่วงจังหวะเวลาของการระบาดที่ยังมีอยู่ แต่เนื่องจากมองว่าระดับการระบาดของโควิดน่าจะไม่รุนแรง ทำให้ทางการจึงไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดดังเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2564 ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศน่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง
หากเป็นไปตามนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศทั้งปี 2565 น่าจะมีจำนวน 109ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 63.4% จากปี 2564 ขณะที่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยน่าจะมีมูลค่าประมาณ 479,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น61.5% จากปี 2564
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ทางการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด และการเดินทางข้ามจังหวัด การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ทำให้คนไทยเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจความต้องการท่องเที่ยวในประเทศ สะท้อนว่า กว่า 73.7% ของกลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ ต้องการเดินทางท่องเที่ยวมากถึงมากที่สุด ทำให้ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2564 นี้ คนไทยน่าจะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้นและต่อเนื่องไปยังปีหน้า
“เบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าหากไม่มีการระบาดหนักอีก ตลาดไทยเที่ยวไทยในปี 2565 น่าจะมีจำนวนประมาณ109-155 ล้านคน-ครั้ง ฟื้นตัวจากปี 2564 ที่ราว 66.71 ล้านคน-ครั้ง ภายใต้บรรยากาศที่เอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ คาดว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2564 นี้ คนไทยเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ขณะที่ทั้งปี 2564 คนไทยเที่ยวในประเทศ จะมีจำนวน66.71 ล้านคน-ครั้ง”
บทวิเคราะห์ระบุ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรมและความต้องการท่องเที่ยวในประเทศของคนกรุงเทพฯ ในช่วงที่เหลือของปี2564 โดยจากผลสำรวจในเดือนต.ค. 64 พบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ มีความต้องการที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากถึงมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 73.7% ของผู้ตอบแบบสอบถาม หลังจากที่คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับการะรบาดอย่างหนักของโควิด ข้อจำกัดจากมาตรการการเดินทางข้ามจังหวัด และการที่ต้องใช้เวลาอยู่ในที่พักอาศัยจากเคอร์ฟิว และการที่ต้องทำงานที่บ้านเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน โดยเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจในช่วงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนได้ว่าเมื่อสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น กลุ่มตัวอย่างมีความเชื่อมั่นที่จะเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น
จุดหมายปลายท่องเที่ยวที่กลุ่มตัวอย่างอยากเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้ ยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ภูเขา/ยอดดอยเช่น เชียงใหม่ กาญจนบุรี เพชรบูรณ์ และจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นต้น ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ เลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ได้แก่ ชลบุรี (พัทยา) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และระยอง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่าคนกรุงเทพฯ ยังเลือกเดินทางท่องเที่ยวยังแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชน เช่น สมุทรสงครามอยุธยา อุทัยธานี เป็นต้น
“การเดินทางท่องเที่ยวของกลุ่มตัวอย่าง นอกจากจะให้ความสำคัญในการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่อยากไปแล้ว แต่จากผลสำรวจก็สะท้อนว่า กลุ่มตัวอย่างพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว หากในพื้นที่มีการระบาดของโรคโควิด ดังนั้น ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่ยังมีความเสี่ยงสูง ทุกภาคส่วนยังต้องร่วมมือกันอย่างเข้มข้นในการควบคุมการระบาดในพื้นที่ เพื่อจะได้ไม่สูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว”
บทวิเคราะห์ระบุ
ส่วนการใช้เวลาในการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวสั้นลง โดยกลุ่มตัวอย่างกว่า 30.3% มีระยะเวลาการจองโรงแรมล่วงหน้าก่อนเดินทาง (Lead Time) เพียง 2-5 วัน (จากเดิมที่จะใช้เวลาประมาณ 15 วัน ถึง 1 เดือน) เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้มีการหาข้อมูลการท่องเที่ยวอยู่ตลอดเวลา ทำให้เมื่อโควิดดีขึ้น การตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
คนกรุงเทพฯ เดินทางท่องเที่ยวโดยรถส่วนตัวเป็นหลัก คิดเป็น 60.8% ขณะที่รองลงมา คือ โดยสารเครื่องบิน 25.7% นอกจากนี้จะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวโดยการเช่ารถที่มีคนขับ การเดินทางโดยรถบริการขนส่งสาธารณะ รถไฟ เป็นต้น
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญในเรื่องของราคาในการสำรองห้องพัก โดยระดับราคาที่พักที่กลุ่มตัวอย่างเลือกที่จะจ่ายส่วนใหญ่มีระดับราคาประมาณ 1,500-2,000 บาทต่อคืน ขณะที่ระดับราคารองลงมาจะอยู่ที่ประมาณ 2,001-2,500 บาท สำหรับปัจจัยในการเลือกโรงแรมและที่พัก รองลงมาจะเป็นเรื่องมาตรฐานการดูแลความสะอาด และความปลอดภัยจากโควิด และสัดส่วนที่ใกล้เคียงจะเป็นเรื่องที่พักที่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว เช่น ติดทะเล มีบรรยากาศธรรมชาติและมีมุมให้ถ่ายภาพ
ค่าใช้จ่ายกลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ ที่มีแผนจะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 4,500 บาทต่อคนต่อทริปโดยค่าใช้จ่ายที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่าจะมีการปรับลดระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว เช่น การลดค่าใช้จ่ายในการซื้อของฝาก และการซื้อสินค้าอื่นๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้น และของฝากท้องถิ่นสามารถที่จะซื้อผ่านออนไลน์ได้ นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญในเรื่องของการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างจะใช้เวลาพักผ่อนอยู่บริเวณโรงแรมและที่พัก ซึ่งมีผลต่อการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว
สำหรับปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ยังมีผลน้อยต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากคนที่ต้องการท่องเที่ยวในช่วงนี้ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ขณะที่การเดินทางท่องเที่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.3 ทริป รวมถึงในช่วงนี้นักท่องเที่ยวยังได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ
จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอย่างมาก ซึ่งหากทางการสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ และไม่กลับมาระบาดอีกระลอกอย่างรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อการเดินทาง น่าจะเป็นปัจจัยหนุนที่ดีสำหรับทิศทางตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะถึงนี้ แต่การฟื้นตัวน่าจะยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยยังไม่น่าจะกลับมาพลิกฟื้นเป็นบวก เนื่องจากขณะนี้ สถานการณ์โควิดในแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งยังเสี่ยงสูง ขณะที่ในหลายจังหวัดและสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งมีมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด โดยนักท่องเที่ยวไทยที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนตามเงื่อนไขที่กำหนด หรือกรณีที่นักท่องเที่ยวไทยยังไม่ได้รับวัคซีนครบอาจจะต้องตรวจ ATK
จากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในช่วงฤดูกาลเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย 2 เดือนสุดท้ายของปี 2564 การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยอาจจะมีจำนวน 29.1 ล้านคน-ครั้ง หดตัว 14.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่ดีขึ้นจากค่าเฉลี่ยต่อเดือนที่ 3.8 ล้านคน-ครั้งในช่วงเดือนม.ค.-ต.ค. 2564
ส่งผลทำให้ทั้งปี 2564 การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย จะมีจำนวน 66.71 ล้านคน-ครั้ง หดตัวประมาณ26.3% จากปี 2563 นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยทั้งปี2564 นี้ น่าจะมีมูลค่าประมาณ 296,895 ล้านบาท หดตัวประมาณ 38.2% จากปี 2563
ปี 2562 | ปี 2563 | ปี 2564 | ปี 2565 | |
คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ | 172.7 ล้านคน-ครั้ง | 90.56 ล้านคน-ครั้ง | 66.71 ล้านคน-ครั้ง | 109-155 ล้านคน-ครั้ง |
การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวของคนไทย | 1.08 ล้านล้านบาท | 4.82 ล้านล้านบาท | 2.97 ล้านล้านบาท | 4.80-6.98 ล้านล้านบาท |
ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริป | 6,262 บาทต่อทริป | 5,328 บาทต่อทริป | 4,450 บาทต่อทริป | 4,400-4,500 บาทต่อทริป |
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ย. 64)
Tags: lifestyle, ท่องเที่ยว, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เศรษฐกิจไทย, ไทยเที่ยวไทย