กรมชลฯ เฝ้าระวังพร้อมรับมือน้ำหลากพื้นที่ภาคใต้ 7-13 พ.ย.นี้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงวันที่ 7 – 13 พฤศจิกายน 2564 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้นจะมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

ทั้งนี้ ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 27/2564 เรื่องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม และน้ำล้นอ่างเก็บน้ำ ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ พบว่าในช่วงวันที่ 7 – 13 พฤศจิกายน 2564 มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง ดังนี้

เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

  • บริเวณที่ลาดเชิงเขา ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้น

  • บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง และภูเก็ต

เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่ลุ่มต่ำ

  • บริเวณแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ อำเภอพระแสง อำเภอพุนพิน และอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี
  • บริเวณคลองท่าดี จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ อำเภอลานสกา อำเภอพระพรหม และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
  • บริเวณคลองชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่
  • ทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอสิงหนคร
  • แม่น้ำปัตตานี จังหวัดปัตตานี ได้แก่ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา และอำเภอเมืองปัตตานี
  • แม่น้ำโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ได้แก่ อำเภอสุไหงโก-ลก

นายประพิศ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และให้พิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ ให้สอดคล้องกับการขึ้น – ลงของระดับน้ำทะเล รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก และตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงอาคารบังคับน้ำ อ่างเก็บน้ำ และแนวคันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำไปยังจังหวัด เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงล่วงหน้า พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรอง และเจ้าหน้าที่ประจำจุดพื้นที่เสี่ยง ให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนได้ทันที เพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top