ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,148 ราย ประกอบด้วย
– ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,415 ราย
– จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 113 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 605 ราย
– ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 15 ราย มาจากสหราชอาณาจักร (Sandbox) รัสเซีย (Sandbox) สหรัฐอเมริกา (Sandbox 1 ราย) ไนจีเรีย มาเลเซีย ประเทศละ 2 ราย ออสเตรเลีย (Sandbox) อินเดีย อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยอรมนี ประเทศละ 1 ราย
ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายด้วยการตรวจ ATK 3,848ราย
– เสียชีวิต 80 ราย เป็นชาย 29 ราย หญิง 51 ราย อายุเฉลี่ย 68 ปี (30-100 ปี) โดยเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 58 ราย คิดเป็น 72% ผู้มีโรคเรื้อรัง 18 ราย คิดเป็น 22% และไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 4 ราย คิดเป็น 6%
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 1,951,572 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 8,238 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 19,542 ราย
จังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 721 ราย, สงขลา 498 ราย, ปัตตานี 427 ราย, เชียงใหม่ 403 ราย, ยะลา 375 ราย, ชลบุรี 348 ราย, นครศรีธรรมราช 294 ราย, สมุทรปราการ 244 ราย, นราธิวาส 213 ราย และตรัง 205 ราย
พญ.สุมณี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จังหวัดที่มีการเฝ้าระวัง คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์ ซึ่งจะเห็นว่าสถานการณ์การระบาดมีการระบาดเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนก.ย.เป็นต้นมา ซึ่งช่วงดังกล่าวมีผู้ติดเชื้อต่อวันประมาณ 300-400 ราย และหลังจากนั้นเพิ่มขึ้นจนถึงยอดที่สูงขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงช่วงเดือนต.ค.พบว่าวันละ 600 ราย
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับภาพรวมของประเทศจะเห็นว่าการติดเชื้อในภาพรวมของประเทศจะอยู่ที่ประมาณค่าเฉลี่ย 2,700 รายต่อแสนประชากร ซึ่งมากกว่าจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,000 รายต่อแสนประชากร โดยคลัสเตอร์แรก พบการระบาดในโรงงานและตลาดตั้งแต่ช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา และหลังจากนั้นมีการแพร่กระจายเข้าสู่ชุมชนและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่เดือนส.ค.จนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ พญ.สุมณี ระบุว่า การจัดอันดับ 5 คลัสเตอร์ในนครศรีธรรมราช 5 อันดับแรก วันที่ 1 ก.ย.-4 พ.ย. พบว่า ในครอบครัวและชุมชน 79.76 % ในตลาด 6.89% ในเรือนจำ 5.11% ในโรงงาน 1.68% และในกิจกรรมทางศาสนา 1.43 % และทางจังหวัดได้มีการจำกัดวงการระบาดซึ่งมีการตรวจค้นหาเชิงรุกและระดมเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง และมีการมาตรการเพิ่มเติม จากเดิมที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม)โดยมีมาตรการขอความร่วมมือห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 23.00-03.00 น. แต่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีมาตรการที่เข้มข้นกว่าที่ศบค.กำหนด คือ เพิ่มการออกนอกเคหสถาน เป็นเวลา 22.00-03.00 น.และมีการประกาศปิดชุมชน ที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นด้วยเพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาด
พญ.สุมณี กล่าวอีกว่า ส่วนในจังหวัดเชียงใหม่ พบการระบาดในพื้นที่ตลาด 32 ราย แคมป์คนงานก่อสร้าง 8 รายสถานศึกษา 7 ราย และศูนย์เด็กเล็ก 4 ราย ส่วนจังหวัดชลบุรี ยังพบการระบาดในค่ายทหาร 15 รายและแคมป์คนงานก่อสร้าง 13 ราย
ส่วนกรณีการระบาดในสถานศึกษาโรงเรียนคำสร้อยพิทยาสรรพ์ ที่จังหวัดมุกดาหาร พบว่าในพื้นที่โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจกระทรวงศึกษาธิการเขต 11 และสำนักงานพื้นที่มัธยมศึกษาจังหวัดมุกดาหารได้ลงพื้นที่ติดตามกำกับและมีการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ในผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก โดยผลออกมาพบว่า ทุกคนมีผลเป็นลบทั้งหมด จึงไม่มีคลัสเตอร์ในโรงเรียนดังกล่าว และขณะนี้ สามารถกลับมาเปิดการเรียนการสอนตามปกติแล้ว
พญ.สุมณี กล่าวอีกว่า ที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขและที่ประชุมศปก.ศบค.มีความเป็นห่วงเรื่องการดำเนินงานในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงในช่วงที่มีการผ่อนคลายประเทศ โดยมีการประชุมกับหลายภาคส่วน ทั้งกรุงเทพฯ ภาคเอกชน เช่น สมาคมภัตตาคารไทย และสมาคมผู้ค้าปลีก เป็นต้น โดยมีประเด็นหลักในการประชุม 2 เรื่อง คือ 1.ขอเร่งรัดให้ร้านค้าสถานประกอบการ ร้านอาหาร ทำความเข้าใจและสร้างความร่วมมือให้ดำเนินการภายใต้มาตรการสาธารณสุข SHA และ SHA+ และฉีดวัคซีนให้กับพนักงาน เพื่อยกระดับสถานประกอบการ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้มีความพร้อมในการรองรับมาตรการผ่อนคลายอื่นๆที่จะตามมา และ2.การอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้านอาหาร ขอให้เจ้าของกิจการและสถานประกอบการทั้งหมดช่วยดำเนินการภายใต้มาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดตามเวลาที่กำหนดไว้ โดยที่ประชุมศปก.ศบค.จะมีการประเมินสถานการณ์ทุก 2 สัปดาห์
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรวันที่ 4 พ.ย. มีจำนวน 2,086 ราย ในจำนวนนี้เข้ามาในกลุ่มไม่ต้องกักตัว หรือ Test and go 1,864 ราย, Sandbox 88 ราย, Quarantine 7 วัน 32 ราย และ Quarantine 10 วัน 102 ราย
โดย 10 ประเทศ ที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1-4 พ.ย. ได้แก่ 1.สหรัฐอเมริกา 2.เยอรมนี 3.สหราชอาณาจักร 4. ญี่ปุ่น 5.สวิตเซอร์แลนด์ 6.สวีเดน 7.เกาหลีใต้ 8.เนเธอร์แลนด์ 9.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ10.จีน
ทั้งนี้ ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศปก.ศบค.) ขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่และสายการบินต่างๆตรวจเอกสารหลักฐานของนักท่องเที่ยวและผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างละเอียดให้ครบถ้วนตั้งแต่ก่อนเดินทางเข้ามาถึงประเทศ และเมื่อเดินทางถึงประเทศแล้วขั้นตอนที่สำคัญ คือ การตรวจคัดกรองเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ที่โรงแรมที่รับนักท่องเที่ยว จะต้องมีระบบในการดำเนินการที่จับคู่กับโรงพยาบาลที่ปฎิบัติการคู่สัญญา เพื่อตรวจและออกผลให้ได้ภายใน 6 ชั่วโมงก่อนที่จะเข้าสู่ระบบต่อไป จึงขอเน้นย้ำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีการกำกับติดตามสถานประกอบการโรงแรมให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ส่วนแผนรองรับกรณีการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วเกิดการระบาดเกิดขึ้น ว่า มีการเตรียมพื้นที่สำหรับแผนเผชิญเหตุ เมื่อมีสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ ซึ่งในการทำแผนเผชิญเหตุดังกล่าวมีการจัดทำภายใต้หลักการตามคำสั่งศบค.ฉบับที่ 11 ซึ่งมีเกณฑ์ในการพิจารณา 3 ข้อ คือ 1.ความพร้อมในการรองรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่เป็นนักท่องเที่ยว 2. ความพร้อมในการรองรับผู้ติดเชื้อที่เป็นประชาชนในพื้นที่ และ 3.ลักษณะการระบาดวิทยาของ โควิด-19 ในพื้นที่และการจัดระดับพื้นที่สถานการณ์ และทรัพยากรในการสอบสวนควบคุมโรค
ซึ่งเมื่อมีการพิจารณาแล้วจะต้องมีการปรับว่า จะต้องมีการทำมาตรการอย่างไร เริ่มตั้งแต่ลดกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยว จนถึงยุติการรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องเป็นมติจากที่ประชุมคณะกรรมการจังหวัดนั้นๆในการดำเนินการ และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 249,327,571 ราย เสียชีวิต 5,044,881 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 47,174,929 ราย อันดับ 2 อินเดีย 34,332,407 ราย อันดับ 3 บราซิล 21,849,137 ราย อันดับ 4 สหราชอาณาจักร 9,208,219 ราย และอันดับ 5 รัสเซีย 8,673,860 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 24
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ย. 64)
Tags: COVID-19, lifestyle, ศบค., โควิด-19