นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงผลการพิจารณาของคณะผู้เชี่ยวชาญ กรณีเสียชีวิตภายหลังการรับวัคซีนโควิด-19 โดยได้รับรายงานทั้งหมด 1,296 ราย และคณะผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาแล้ว 842 ราย พบว่า ผู้เสียชีวิตที่มีเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับวัคซีนมีทั้งหมด 3 ราย ด้วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ 2 ราย และอาการแพ้รุนแรงร่วมกับภาวะช็อก 1 ราย
ส่วนเหตุการณ์ที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ มีจำนวน 66 ราย ข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ จำนวน 41 ราย และรอสรุปสาเหตุการเสียชีวิตจากผลชันสูตร ข้อมูลเพิ่มเติมอีก 191 ราย ในส่วนที่เหลือ 541 ราย สาเหตุการเสียชีวิตไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน โดยเป็นเหตุการณ์ร่วมจากภาวะโรคอื่นๆ
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ภาพรวมในประเทศไทย ตัวเลขการติดเชื้อมีแนวโน้มลดลง แต่ในบางพื้นที่ยังมีคลัสเตอร์ใหม่ๆ โดยมีความเกี่ยวข้องกับตลาด และแรงงานต่างด้าว สำหรับภาคใต้ภาพรวมก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยจังหวัดยะลา และนราธิวาส มีแนวโน้มการติดเชื้อที่ลดลงอย่างชัดเจน ส่วนสงขลามีทิศทางลดลงเล็กน้อย ในขณะที่ปัตตานีผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับสูงอยู่
“วันนี้พบแรงงานต่างชาติจากประเทศกัมพูชาติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 7 ราย เดินทางเข้ามาในประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ ดังนั้นขอความร่วมมือผู้ประกอบการรับจ้างแรงงานที่เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ และขอให้เจ้าของกิจการที่มีลูกจ้างเป็นแรงงานต่างชาติ พาลูกจ้างไปฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน”
นพ.เฉวตสรร กล่าว
ด้านความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ในพื้นที่สีฟ้า จังหวัดกรุงเทพ สมุทรปราการ ชลบุรี และภูเก็ต ฉีดครอบคลุมแล้ว 70% ส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ระยอง ตราด เลย บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และระนอง สามารถฉีดวัคซีนครอบคลุม 50-69% ในส่วนของจังหวัดหนองคาย และอุดรธานี ฉีดวัคซีนครอบคลุมอยู่ที่ 40-49%
สำหรับจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1-3 พ.ย. มีจำนวนสะสมทั้งหมด 7,124 คน พบผู้ติดเชื้อ 4 ราย อัตราติดเชื้ออยู่ที่ 0.06% โดยประเทศที่เดินทางมาท่องเที่ยวมากที่สุด คือประเทศสหรัฐอเมริกา รองลงมา คือ ประเทศญี่ปุ่น และเยอรมนี ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากักตัว และรอผลตรวจโควิด-19 อยู่ในจังหวัดกรุงเทพ และสมุทรปราการ เป็นส่วนใหญ่
สำหรับเกณฑ์การฉีดวัคซีนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะต้องเป็นชนิดที่ทางประเทศไทยกำหนด ได้แก่ ซิโนแวค, แอสตร้าเซนเนก้า, ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, ซิโนฟาร์ม, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และสปุตนิก วี ส่วนการกำหนดโดสจะต้องมีการฉีดครบโดส ขึ้นอยู่กับวัคซีนแต่ละชนิด คือ วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 1 เข็ม และวัคซีนชนิดอื่นๆ ฉีดครบ 2 เข็ม โดยต้องฉีดวัคซีนครบโดสเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ขึ้นไป ทั้งนี้ยังไม่มีหลักเกณฑ์ว่าฉีดเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่จึงจะไม่เข้าเกณฑ์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 พ.ย. 64)
Tags: COVID-19, lifestyle, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน, วัคซีนต้านโควิด-19, เฉวตสรร นามวาท, โควิด-19