ทริสฯ เพิ่มอันดับเครดิต BCH เป็น A จาก A- เปลี่ยนแนวโน้มเป็น Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. บางกอก เชนฮอสปิทอล (BCH) เป็นระดับ “A” จาก “A-” และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นของบริษัทโดยมีปัจจัยสนับสนุนที่มาจากผลการดำเนินงานที่เข้มแข็งจากการมีฐานรายได้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในการให้บริการคนไข้ 2 กลุ่มหลักคือกลุ่มคนไข้ที่ชำระเงินสดซึ่งมีรายได้ระดับปานกลางและกลุ่มคนไข้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ตลอดจนการมีหนี้สินในระดับปานกลางและสภาพคล่องที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงของผู้ประกอบการในธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • มีสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งทั้งในกลุ่มคนไข้ที่ชำระเงินสดและกลุ่มคนไข้ในระบบประกันสังคม บริษัทมีสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งในการให้บริการแก่กลุ่มคนไข้ที่ชำระเงินสดและกลุ่มคนไข้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ทั้งนี้ โดยปกติแล้วรายได้จากกลุ่มคนไข้ที่ชำระเงินสดมีสัดส่วนประมาณ 65% ของรายได้จากบริการทางการแพทย์รวมของบริษัท ในขณะที่รายได้จากกลุ่มคนไข้ในระบบประกันสังคมคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 35%

รายได้จากกลุ่มคนไข้ที่ชำระเงินสดของบริษัทมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ระดับ 11% ในช่วงปี 2557-2562 ก่อนที่จะลดลงเล็กน้อยในอัตรา 2% ในปี 2563 จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) อย่างไรก็ตาม บริษัทมีรายได้จากกลุ่มคนไข้ที่ชำระเงินสดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 88% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 5.1 พันล้านบาทโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในโรงพยาบาลในเครือของบริษัทเกือบทุกแห่งจากการเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19

บริษัทมีรายได้จากการให้บริการแก่กลุ่มคนไข้ประกันสังคมในปี 2563 อยู่ที่ระดับ 3.2 พันล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 5% จากปี 2562 และใกล้เคียงกับระดับเดิมที่ประมาณ 1.5 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจากจำนวนผู้ประกันตนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 คนไข้ในกลุ่มประกันสังคมที่ลงทะเบียนกับโรงพยาบาลในเครือของบริษัทมีจำนวน 892,437 คน เพิ่มขึ้นจาก 881,205 คน ณ สิ้นปี 2563 โดยจำนวนผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนกับโรงพยาบาลในเครือของบริษัทคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7% ของจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมดในระบบประกันสังคมทั่วประเทศ การมีฐานคนไข้ลงทะเบียนในระบบประกันสังคมจำนวนมากทำให้บริษัทเกิดการประหยัดจากขนาดและช่วยคงระดับอัตราการใช้งานอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่

  • ผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากโรคโควิด-19 ผลการดำเนินงานของบริษัทเติบโตดีกว่าผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรมในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในระหว่างปี 2563-2564 โดยในปี 2563 ในขณะที่รายได้รวมของกลุ่มผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลดลง 12% บริษัทก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการสร้างรายได้ที่มีเสถียรภาพท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยรายได้รวมของบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้น 0.3% จากปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 2 และ 3 ในระหว่างเดือนเมษายนจนถึงเดือนกันยายน 2564 นั้น ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ต่างก็ได้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยรายได้รวมของทั้งอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เติบโตเพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในส่วนของบริษัทนั้นก็มีรายได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 56% มาอยู่ที่ระดับ 6.7 พันล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันด้วย

การเติบโตของรายได้ของบริษัทที่สูงกว่าอุตสาหกรรมนั้นมาจากการที่บริษัทมีฐานผู้ป่วยชาวไทยจำนวนมากและมีการให้บริการด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 จำนวนมากของเครือโรงพยาบาลในกลุ่มของบริษัท โดยบริษัทได้มีการเพิ่มการคัดกรองผู้ป่วยโรคโควิด-19 พร้อมทั้งให้บริการห้องปฏิบัติการได้ถึง 16,000 ตัวอย่างต่อวัน รวมทั้งยังได้เพิ่มเตียงและสถานพยาบาลเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมมือกับโรงแรมต่าง ๆ ในการรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงเข้ารับการรักษาในฮอสพิเทล (Hospitel) และโรงพยาบาลสนาม อีกทั้งยังจะให้บริการคัดกรองโรคโควิด 19 ภายใต้โครงการ “Factory Sandbox” ของภาครัฐเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดภายในโรงงานในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 อีกด้วย

บริษัทมีรายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 34% ของรายได้จากการให้บริการด้านการแพทย์รวมของบริษัท โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 0.7 พันล้านบาทในปี 2563 ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอย่างมากในประเทศไทยนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่และจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้อัตราการใช้เตียงโดยเฉลี่ยของบริษัทในปี 2564 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นและจะช่วยเพิ่มรายได้รวมของบริษัท

นอกจากนี้ ยังมีประชาชนจำนวนมากที่สนใจจะรับการฉีดวัคซีน “โมเดอร์นา” ซึ่งได้ลงทะเบียนจองวัคซีนกับเครือโรงพยาบาลของบริษัทคิดเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 2.26 ล้านโดสอีกด้วย โดยคาดว่าประมาณ 19% ของจำนวนวัคซีนที่มีการจองเข้ามาจะได้รับการจัดสรรภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 และส่วนที่เหลืออีก 1.84 ล้านโดสจะได้รับการจัดสรรในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งการให้บริการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาจะสร้างรายได้พิเศษเพิ่มเติมให้แก่บริษัทในช่วงระหว่างปี 2564-2565

ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะเพิ่มขึ้นไปถึงระดับราว ๆ 1.7 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และหลังจากนั้นจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2565 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจากการให้บริการด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 และการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเป็นสำคัญ หลังจากนั้นทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะกลับมาอยู่ในระดับปกติที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2567 โดยการเติบโตในช่วงนี้มีปัจจัยสนับสนุนมาจากฐานผู้ป่วยที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมและจากการให้บริการทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นของทั้งโรงพยาบาลที่มีอยู่เดิมและโรงพยาบาลที่เปิดใหม่ของบริษัท

  • โรงพยาบาลใหม่ช่วยเพิ่มความจุเตียงและฐานคนไข้ บริษัทได้เปิดโรงพยาบาลใหม่จำนวน 3 แห่งในช่วงปี 2563-2564 โดยโรงพยาบาลใหม่ดังกล่าวได้ช่วยเพิ่มฐานคนไข้และสร้างแหล่งรายได้ของบริษัทให้มีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้น

ในเดือนพฤษภาคม 2563 บริษัทได้เปิดโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อรัญประเทศ ขนาด 90 เตียงในจังหวัดสระแก้ว ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มคนไข้ชาวไทยที่ชำระเงินสดและผู้ป่วยต่างชาติ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 บริษัทยังได้เปิดโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ขนาด 115 เตียงในจังหวัดปราจีนบุรีซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรม 304 เพื่อให้บริการการรักษาในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไข้ที่ชำระเงินสดและคนไข้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่ทำงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมและชุมชนในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย ทั้งนี้ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี จะมีโควต้าสำหรับพนักงานและผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมของโรงพยาบาลเองจำนวนประมาณ 78,000 คนในปี 2565 ซึ่งจะเป็นการขยายฐานผู้ป่วยภายใต้ระบบประกันสังคมของบริษัท

โรงพยาบาลใหม่ทั้ง 2 แห่งนี้มีผลการดำเนินงานที่ดีโดยมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งความสามารถในการทำกำไรซึ่งวัดจากกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวกได้ในระยะเวลาอันสั้น

เมื่อไม่นานมานี้บริษัทเพิ่งทำการเปิดโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ในเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ โรงพยาบาลแห่งนี้ถือเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในต่างประเทศของบริษัทซึ่งมีความจุของเตียงผู้ป่วยในจำนวน 110 เตียงและมีห้องตรวจจำนวน 43 ห้อง โรงพยาบาลดังกล่าวมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ป่วยท้องถิ่นที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงและผู้ป่วยต่างชาติในสปป. ลาว ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าโรงพยาบาลที่เปิดใหม่ในเครือของบริษัทจะค่อย ๆ สร้างรายได้และทำกำไรเพิ่มมากขึ้นในระยะปานกลาง

  • ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง EBITDA ของบริษัทในปี 2563 อยู่ที่ระดับ 2.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากระดับ 2.4 พันล้านบาทในปี 2562 EBITDA ของบริษัทปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างเท่าตัวโดยมาอยู่ที่ระดับ 2.5 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จากระดับ 1.2 พันล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งของบริษัทเป็นผลมาจากการมีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการมีสัดส่วนรายได้จากการให้บริการแก่กลุ่มคนไข้ที่ชำระเงินสดที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนมาตรการในการควบคุมค่าใช้จ่าย และการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้นของบริษัท ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างปี 2558-2562 บริษัทมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) อยู่ที่ระดับ 26%-28% และในปี 2563 EBITDA Margin เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 29.3% และเพิ่มสูงขึ้นเป็นพิเศษมาอยู่ที่ระดับ 37.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564

ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA Margin ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 37% ในปี 2564 และจะกลับมาอยู่ที่ระดับค่าเฉลี่ยที่ 27%-31% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าซึ่งสะท้อนถึงฐานรายได้ที่แข็งแกร่ง รวมทั้งความพยายามในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และอัตราการใช้งานสินทรัพย์ที่ดีขึ้นของบริษัท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าความสามารถในการทำกำไรของโรงพยาบาลในเครือของบริษัทที่เปิดใหม่จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า

– มีภาระหนี้สินทางการเงินอยู่ในระดับปานกลาง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่ที่จำนวน 7.1 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจาก 7.3 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 เนื่องจากบริษัทมีระดับ EBITDA ที่สูงขึ้นเป็นพิเศษในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทจึงลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 1.4 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 จากระดับ 2.5 เท่า ณ ปลายปี 2563 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ที่ระดับ 60% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 30%-40% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้ของบริษัทจะค่อยๆ ลดลงเนื่องจากบริษัทยังไม่มีแผนการที่จะขยายเครือข่ายโรงพยาบาลเพิ่มเติม โดยคาดว่าเงินลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านบาทโดยรวมในช่วงระหว่างปี 2564-2567 ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ว่ากระแสเงินสดของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นเงินลงทุนในบางส่วน ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (Debt to EBITDA ratio) ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะอยู่ที่ระดับเกินกว่า 40% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทน่าจะรักษาระดับอยู่ในช่วง 30%-40% และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA Interest Coverage Ratio) น่าจะอยู่ในช่วง 15-25 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน

  • มีสภาพคล่องที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วงเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มาจากเงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวนประมาณ 2 พันล้านบาท รวมถึงวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 5.6 พันล้านบาท ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับประมาณ 4-5 พันล้านบาทในช่วงเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า โดยที่บริษัทจะใช้เงินทุนไปในการชำระหนี้สินทางการเงินที่จะครบกำหนดและลงทุนตามแผน ในการนี้ เงินลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทในปี 2564 และจำนวน 0.3-1 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2567 นอกจากนี้ บริษัทยังมีหนี้ระยะยาวจำนวนประมาณ 0.4 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในปี 2564 และมีหนี้ระยะยาวและหุ้นกู้จำนวนประมาณ 2.7 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในปี 2565 อีกด้วย

ในข้อกำหนดทางการเงินที่บริษัทมีกับผู้ถือหุ้นกู้และธนาคารระบุให้บริษัทต้องคงระดับอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 2 เท่า ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับประมาณ 1.1 เท่า ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทแล้วทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้โดยไม่มีปัญหาประการใด

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • รายได้ในปี 2564 จะขึ้นไปถึงระดับ 1.7 หมื่นล้านบาทและจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ก่อนที่จะกลับสู่ระดับปกติที่ 1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567
  • EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 37% ในปี 2564 และหลังจากนั้นจะคงระดับอยู่ในช่วง 27%-31% ในระหว่างปี 2565-2567
  • เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านบาทโดยรวมในช่วงปี 2564-2567

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งในการให้บริการแก่กลุ่มคนไข้ที่ชำระเงินสดและกลุ่มคนไข้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม รวมทั้งยังคงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถขยายฐานรายได้และกระแสเงินสดได้อย่างมีนัยสำคัญในขณะที่ยังคงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top