In Focus: จับตาการประชุม COP26 ทั่วโลกฝากความหวังผู้นำร่วมแก้วิกฤติโลกร้อน

การประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ขององค์การสหประชาติ (UN) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ได้เปิดฉากขึ้นแล้วระหว่างวันที่ 31 ต.ค.- 12 พ.ย.นี้ ต่อจากการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G20 ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมาโดยที่ยังไม่สามารถทำข้อตกลงกันเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้

นายอาล็อก ชาร์มา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมสมัชชาภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร วันที่ 31 ต.ค. 2564 ภาพ: รอยเตอร์

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นชัดเจนและรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายได้ออกมาเตือนหลายครั้งว่า “อาจไม่มีเวลาเหลือแล้ว” ขณะที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวในพิธีเปิดการประชุม COP26 ครั้งนี้ว่า “มนุษยชาติได้เสียเวลาไปมากแล้วกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตอนนี้อีกหนึ่งนาทีนาฬิกาวันสิ้นโลกก็จะตีบอกเวลาเที่ยงคืน เราจำเป็นต้องเริ่มลงมือทำเดี๋ยวนี้”

นอกจากนี้ ข้อมูลจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) แสดงให้เห็นว่า โลกเรามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี และแม้ว่าในปี 2563 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบรายปี เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักลง แต่ข้อมูลคาดการณ์ล่าสุดของปี 2564 พบว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มกลับมาเกือบเท่ากับระดับของปี 2562 แล้ว ซึ่งไม่ใช่สัญญาณที่ดี

In Focus สัปดาห์นี้จะพาผู้อ่านไปดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในการประชุมสุดยอดผู้นำโลก COP26 ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และเราจะสามารถคาดหวังผลลัพธ์อะไรได้บ้างจากการประชุมนี้

หมายกำหนดการของ COP26

การประชุม COP26 จัดขึ้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์ระหว่างวันที่ 31 ต.ค.-12 พ.ย. โดยมีกำหนดการคร่าว ๆ ดังนี้

  • 31 ต.ค. พิธีเปิดงาน
  • 1-2 พ.ย. การประชุมสุดยอดผู้นำโลก เพื่อเร่งการดำเนินงานที่จำเป็นเพื่อปกป้องโลกและสิ่งมีชีวิตบนโลก
  • 3 พ.ย. การประชุมของภาคการเงินเพื่อหารือถึงการดำเนินงานของภาคการเงินรัฐและเอกชนในการระดมทุน 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อใช้ในการดำเนินการด้านสภาพอากาศตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจที่แท้จริง และทำให้ทุกประเทศมุ่งหน้าสู่เป้าหมายการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593
  • 4 พ.ย. การประชุมของภาคพลังงานเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานโลก ยุติการใช้พลังงานถ่านหินและหันไปใช้พลังงานสะอาดเพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม
  • 5 พ.ย. การประชุมเพื่อเพิ่มสิทธิ์และเสียงของเยาวชนและภาคประชาชน โดย COP26 ร่วมมือกับกลุ่มเด็กและเยาวชนของ UNFCCC (YOUNGO) และพันธมิตรเยาวชนอื่น ๆ จะส่งเสริมสิทธิ์และเสียงของเยาวชน และทำให้แน่ใจว่าจะมีแพลตฟอร์มเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศรุ่นเยาว์ได้มีส่วนร่วม และได้รับความสำคัญร่วมกับผู้มีสิทธิ์ในการตัดสินใจ
  • 5-6 พ.ย. การประชุมเกี่ยวกับธรรมชาติและการใช้ที่ดิน เพื่อแสดงให้เห็นว่าภาครัฐบาล ธุรกิจ ชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น และเกษตรกร ได้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงสู่การจัดการเกี่ยวกับการใช้ที่ดินและมหาสมุทรอย่างยั่งยืนมากขึ้น ด้วยการปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติ ตลอดจนปฏิรูประบบอาหารและการทำเกษตร
  • 7 พ.ย. หยุดพักการประชุม
  • 8 พ.ย. การประชุมเรื่องการปรับตัว, การสูญเสีย และความเสียหาย โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจผลักดันประชาชนกว่า 100 ล้านคนเข้าสู่ความยากจนภายในปี 2573 ดังนั้นตัวแทนชุมชนท้องถิ่น ผู้เชี่ยวชาญ และรัฐมนตรี จะหารือเกี่ยวกับทางออกที่จำเป็นที่ใช้งานได้จริงเพื่อปรับตัวรับผลกระทบ และแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้น
  • 9 พ.ย. การประชุมเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และการมีส่วนร่วมของเด็กและสตรีในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ
  • 9 พ.ย. การประชุมด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อแสดงให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสามารถช่วยแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ
  • 10 พ.ย. การประชุมของภาคการขนส่ง เพื่อผลักดันระบบการขนส่งที่ไม่ปล่อยมลพิษ
  • 11 พ.ย. การประชุมเกี่ยวกับเมือง, ภูมิภาค และสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง เพื่อยกระดับการดำเนินงานเพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศในสถานที่ที่เราอยู่อาศัยตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับภูมิภาค
  • 12 พ.ย. ปิดฉากการประชุม

เป้าหมายของงาน COP26

ป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

เป้าหมายร่วมกันในงานนี้คือเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ พยายามลดการปลดปล่อยมลพิษให้ได้ตามเป้าหมายของปี 2573 และทำให้แน่ใจว่าจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษที่ 20 เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยต้องการให้ประเทศต่าง ๆ ลดการใช้พลังงานถ่านหิน เร่งการเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้า สนับสนุนการลงทุนในพลังงานทดแทน และยุติการตัดไม้ทำลายป่า

ปรับตัวเพื่อปกป้องชุมชนและแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติ

สภาพภูมิอากาศได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และจะเปลี่ยนแปลงต่อไปอย่างแน่นอน ไม่ว่าเราจะลดการปลดปล่อยมลพิษได้หรือไม่ สิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้มีเพียงร่วมมือกันปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศ สร้างแนวป้องกัน ระบบแจ้งเตือน และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงระบบกสิกรรมที่ทนทานเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียที่อยู่อาศัย การใช้ชีวิต หรือแม้แต่ชีวิตของเราเอง

ขับเคลื่อนภาคการเงิน

เพื่อให้ประสบความสำเร็จได้ตาม 2 เป้าหมายข้างต้น กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะต้องรักษาสัญญาของตนเองที่จะระดมทุนอย่างน้อย 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อใช้ในด้านสภาพภูมิอากาศ โดยสถาบันการเงินทั่วโลกต้องทำหน้าที่ของตนเองเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์

ร่วมมือกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ

ประเทศต่าง ๆ สามารถรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศได้ด้วยการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องที่ประเทศใดประเทศหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะสามารถทำได้ด้วยตนเอง ต้องผลักดันการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ในความตกลงปารีส (Paris Rulebook) ให้แล้วเสร็จ และเร่งดำเนินการเพื่อรับมือกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐบาล ธุรกิจ และประชาสังคม

คำมั่นสัญญาจากบรรดาผู้นำโลก

จีน ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก

เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจีนเปิดเผยแผนปฏิบัติการที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงระดับสูงสุดก่อนปี 2573 ซึ่งผลักดันวัตถุประสงค์หลักสำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีฉบับที่ 14 (2564-2568) และฉบับที่ 15 (2569-2573) ครอบคลุมการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิล เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

พันธกิจสำคัญของแผนดังกล่าวสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนระดับสูงสุดก่อนปี 2573 ครอบคลุมถึงการส่งเสริมระบบคมนาคมที่ปล่อยคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน และการสนับสนุนนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

ขณะเดียวกันจีนจะพัฒนาระบบบัญชีเชิงสถิติว่าด้วยการปล่อยคาร์บอนอันเป็นมาตรฐานและหนึ่งเดียว ปรับปรุงกฎหมาย ข้อบังคับ และมาตรฐานต่าง ๆ ตลอดจนปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจให้เหมาะสม และสร้างกลไกตลาด เพื่อส่งเสริมการสนับสนุนด้านนโยบาย นอกจากนี้ ในปี 2563

นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเคยกล่าวไว้ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ว่า “จีนตั้งเป้าจะปล่อยคาร์บอนสูงสุดภายในปี 2573 และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ก่อนปี 2603”

สหรัฐ พยายามกอบกู้ความเชื่อมั่นจากทั่วโลกหลังอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ถอนตัวออกจากความตกลงปารีส

นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐเปิดเผยในการประชุม COP26 ว่า สหรัฐจะบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 ได้แน่นอน แม้มีปัญหาท้าทายมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเมืองภายในสหรัฐเองจากการที่ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายกลับไปกลับมา

ก่อนหน้านี้ ปธน.ไบเดนให้คำมั่นว่า สหรัฐจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50-52% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับระดับในปี 2548 โดยสหรัฐจะแสดงให้โลกเห็นความเป็นผู้นำว่ารัฐบาลสหรัฐสามารถดำเนินการได้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ลมปาก

อินเดีย ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2613

นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียให้คำมั่นต่อที่ประชุม COP26 ว่า อินเดียจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ให้ได้ภายในปี 2613 ซึ่งช้ากว่าเป้าหมายของนายจอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ผู้เป็นเจ้าภาพและผู้จัดงาน COP26 ถึง 20 ปี

สหราชอาณาจักร เจ้าภาพการประชุม COP26

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้เรียกร้องต่อกลุ่มผู้นำโลกที่เข้าร่วมงาน COP26 ผ่านทางวิดีโอที่อัดไว้ล่วงหน้าว่า “กลุ่มผู้นำโลกจะต้องมองข้ามเรื่องของการเมือง และแสดงความเป็นรัฐบุรุษที่แท้จริง” พร้อมเสริมว่า “นี่คือความหวังของผู้คนจำนวนมาก สิ่งที่ได้จากการประชุมนี้ ซึ่งจะบันทึกลงในหนังสือประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้เขียนขึ้น จะพูดถึงพวกคุณในฐานะกลุ่มผู้นำที่ไม่ปล่อยให้โอกาสนี้ผ่านพ้นไป และพวกคุณได้ตอบรับข้อเรียกร้องของคนในรุ่นต่อไป พวกเขาจะบันทึกว่าพวกคุณจบการประชุมนี้ในฐานะผู้นำชุมชนของประเทศต่าง ๆ ที่มีความตั้งใจ มีความปรารถนา และมีแผนการ ที่จะแก้ไขผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรับรู้ว่าเวลาของการพูดผ่านพ้นไปแล้ว นี่เป็นเวลาแห่งการลงมือทำ”

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ยังกล่าวด้วยว่า “แน่นอนว่าผลประโยชน์ของการกระทำดังกล่าวจะไม่ได้ส่งผลต่อเราทุกคนในที่นี้ พวกเราทุกคนไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าหรอก แต่สิ่งที่เรากำลังทำนี้ ไม่ใช่สำหรับพวกเราเอง แต่สำหรับลูกหลานของเรา และลูกหลานของพวกเขา และสำหรับผู้คนในยุคต่อ ๆ ไป”

ผู้นำโลกร่วมลงนามยุติการตัดไม้ทำลายป่า

ณ เวลา 20.30 น. ของวันที่ 2 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่น มี 124 ประเทศร่วมลงนามในคำปฏิญาณยุติการตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงประเทศแคนาดา บราซิล รัสเซีย จีน อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สหรัฐ และสหราชอาณาจักร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ป่าถึง 85% ของโลก คำปฏิญาณดังกล่าว ยังรวมถึงกองทุนรัฐและเอกชนมูลค่าเกือบ 1.92 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะใช้ในการฟื้นฟูพื้นที่ที่เสียหายในประเทศกำลังพัฒนา รับมือปัญหาไฟป่า และสนับสนุนชุมชนพื้นเมือง

นอกจากนี้ รัฐบาล 28 ประเทศยังมุ่งมั่นที่จะยกเลิกการค้าขายอาหารและผลิตภัณฑ์เกษตรอื่น ๆ เช่น น้ำมันปาล์ม, ถั่วเหลือง และโกโก้ ที่ส่งผลให้มีการตัดไม้ทำลายป่า ขณะที่บริษัทการเงินรายใหญ่ที่สุดของโลกกว่า 30 แห่ง เช่น เอวีวา, ชโรเดอร์ส และแอกซ่า ให้สัญญาว่าจะหยุดการลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า

นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษระบุว่า “เราต้องหยุดการสูญเสียพื้นที่ป่าของเรา และหยุดการเป็นผู้พิชิตธรรมชาติของมนุษย์ เพื่อเปลี่ยนไปเป็นผู้ดูแลธรรมชาติแทน”

ศาสตราจารย์ไซมอน ลิวอิส ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศและป่าไม้จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า “นับเป็นข่าวดีที่มีความมุ่งมั่นทางการเมืองเพื่อยุติการตัดไม้ทำลายป่าจากหลายประเทศ และมีการจัดสรรเงินทุนจำนวนมากเพื่อผลักดันความมุ่งมั่นดังกล่าว แต่เราเคยมีการประกาศแบบนี้ในปี 2557 ที่นิวยอร์กมาแล้ว ซึ่งไม่สามารถชะลอการตัดไม้ทำลายป่าได้เลย”

เพราะเรามีโลกใบเดียว และแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุดอย่างอาณานิคมดาวอังคารก็ยังคงเป็นเรื่องในอนาคตอันไกล และอาจจะเป็นเรื่องเกินเอื้อมสำหรับคนทั่วไป สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นก่อนอาณานิคมแห่งใหม่อาจจะเป็นโลกหลังการล่มสลายจากภัยพิบัติแนวดิสโทเปีย (Dystopia) แบบในหนังไซไฟทั้งหลาย ซึ่งเราก็ได้แต่หวังว่ากลุ่มผู้นำโลกที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ จะเริ่มลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ก่อนที่เราจะเหลือเพียงโลกดิสโทเปียไว้ให้คนรุ่นหลัง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top