นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวในการสัมมนา “เจาะลึกราคาน้ำมันไทย แพงจริงหรือ?” ว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันแพง ได้แก่
- ต้นทุนแพง เนื่องจากราคาในตลาดโลกสูงขึ้น
- ราคาขายปลีกในประเทศ มีกลไกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนอนุรักษ์พลังงาน มีภาษีสรรพสามิตร ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นถึง 10 บาท/ลิตร
- กฎหมายเพื่อความมั่นคงในการมีน้ำมันใช้ไม่ขาดแคลนอย่างน้อย 1 เดือน จึงมีกฎหมายให้ผู้ค้าน้ำมันต้องมีการสำรองน้ำมันของปริมาณการค้า ซึ่งการที่มีน้ำมันในถัง ถือเป็นต้นทุนที่ต้องนำมาเฉลี่ย
- น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือไบโอฟิลด์ ได้แก่ เอทานอล และไบโอดีเซล หรือบี 100 ซึ่งมีราคาสูง และเมื่อนำมาผสมในปริมาณมาก ก็จะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น
- น้ำมันในประเทศมีมาตรฐานสิ่งแวดล้อม เรื่องคุณภาพน้ำมันให้เป็นประเภทยูโร 4 เพื่อลดมลภาวะที่มีกำมะถันสูง หรือมีสารระเหย VOCs สูง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โรงกลั่นน้ำมันจึงต้องลงทุนปรับคุณภาพจากยูโร 3 เป็นยูโร 4 ดังนั้นน้ำมันในประเทศจึงมีคุณภาพสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
- ค่าเงินบาทอ่อนค่าตั้งแต่ช่วงปลายปี 63 จนถึงปัจจุบัน จาก 30 บาท/ดอลลาร์ ลงไปอยู่ที่ 33.9-34 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งตกไป 13%
- ค่าการกลั่นของโรงกลั่น และการตลาด ซึ่งเป็นการแข่งขันแบบเสรี
นายคุรุจิต กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อดูแลโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทยให้เหมาะสม คือ
- ไม่ควบคุมราคาน้ำมันที่ 30 บาท/ลิตร ซึ่งใช้มากว่า 15 ปี ควรขยับแนวต้านขึ้นไปที่ 34 บาท/ลิตร ตามแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการปล่อยราคาน้ำมันไปตามตลาดโลก ไม่ตรึงราคา จะทำให้ประชาชนใช้น้ำมันอย่างประหยัด และสามารถเข้าสู่ระบบพลังงานสะอาดได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ควรช่วยเหลือประชาชนเฉพาะกลุ่มเพื่อให้ใช้งบประมาณน้อยกว่าและตรงกลุ่มเป้าหมายมากกว่า
- ลดภาษีสรรพสามิตรน้ำมันดีเซล ประมาณ 1-2 บาท/ลิตร จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ราว 5 บาท/ลิตร หากราคาน้ำมันโลกลดลงแล้วจึงค่อยกลับมาเก็บในอัตราเดิม
- ลดส่วนผสมไบโอดีเซลลงเหลือประมาณ 5% จากเดิม 7-10%
ด้านนายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งราคาสินค้า และบริการปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนราคาขนส่งจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ทั้งนี้มีอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่งหากราคาน้ำมันสูงกว่านี้ แต่ขณะนี้ไทยยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว
สำหรับแนวทางแก้ไขจะต้องมีความเป็นธรรมทั้งกับผู้ผลิต และผู้ค้า นอกจากนี้ต้องมีการเก็บภาษีเทียบเท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้น้ำมัน โดยได้มีการคำนวณจากราคาคาร์บอน และการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก หรือเฉลี่ยประมาณ 6.50 บาทต่อ ทั้งนี้รัฐสามารถลดการเก็บภาษีลงได้ประมาณ 1 บาทต่อ จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5-6 บาทต่อลิตร เพื่อให้การใช้น้ำมันไม่มีความฟุ่มเฟือยมากเกินไป รวมทั้งเป็นการคำนึงถึงการใช้น้ำมันในอนาคต
“หลายประเทศไม่มีการตรึงราคา และอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และปล่อยให้ขึ้นอยู่กับราคาของตลาดโลก แต่ประเทศไทยมีหลายสาเหตุ ทั้งการเมือง และเศรษฐกิจ ดังนั้นหากราคาขึ้นลงในปริมาณมาก จะส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ ดังนั้นต้องมีการสร้างเสถียรภาพราคาขายปลีก ที่อาจก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่ไม่จำเป็น ในขณะเดียวกันการรักษาสมดุลยังมีความจำเป็น การแทรกแซงราคาน้ำมันจึงต้องมีอยู่เพื่อรักษาเสถียรภาพระยะสั้น อย่างไรก็ดีในระยะยาว จะต้องปล่อยราคาน้ำมันให้เป็นไปตามราคาน้ำมันของโลก เพื่อลดการใช้น้ำมัน และส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานสะอาด”
นายพรายพล กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ย. 64)
Tags: คุรุจิต นาครทรรพ, ดีเซล, พรายพล คุ้มทรัพย์, พลังงาน, ราคาน้ำมัน, สถาบันปิโตรเลียม, เศรษฐกิจไทย