รมช.ประภัตรติดตามการดำเนินงานเทคโนโลยีลำไอออนพลังงานต่ำปรับปรุงพันธุ์ข้าว

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร และคณะข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของเทคโนโลยีลำไอออนพลังงานต่ำในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ณ ห้องประชุมบัวเรศ คำทอง อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย 2 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี รศ. ดร. สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีการทำ MOU กับกรมการข้าว เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนางานวิจัยด้านข้าว และพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านงานวิจัย ซึ่งจะช่วยให้เกิดการขยายผลงานวิจัย สร้างประโยชน์ให้ภาคการเกษตรกรรมของประเทศไทย โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมมือกันในการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีเด่นจากกรมการข้าว จำนวน 5 สายพันธุ์ มาปรับปรุงพันธุ์ ด้วยเทคโนโลยีลำไอออนพลังงานต่ำ และเลือกให้ได้สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ต้านทานต่อโรค และแมลงศัตรูข้าว เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และสร้างรายให้กับเกษตรกร ซึ่งกรมการข้าวจะเป็นฝ่ายสนับสนุนงบประมาณ ภายใต้นโยบาย กฏ ระเบียบและข้อบังคับของหน่วยงาน โดยอยู่ภายใต้โครงการ “นวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ข้าวด้วยเทคโนโลยีลำไอออน เพื่ออุตสาหกรรมข้าวไทย” มีระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน ด้วยงบดำเนินการกว่า 2 ล้านบาท

สำหรับโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย 4 กิจกรรม

  1. ปรับปรุงพันธุ์ข้าวจากกรมการข้าว 5 สายพันธุ์ ด้วยเทคโนโลยีลำไอออนพลังงานต่ำ
  2. อบรมเชิงปฏิบัติการให้กับบุคลากรของกรมการข้าว 1 ครั้ง
  3. ปรับปรุงและส่งเสริมสมรรถนะระบบเครื่องเร่งอานุภาคขนาดกะทัดรัด
  4. นำข้าวที่ผ่านการปรับปรุงสายพันธุ์ไปทดลองปลูกในแปลงนาของกรมการข้าวทั่วประเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นที่ปรึกษา

“วันนี้ราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วง และวิตกกังวลต่อสถานการณ์เป็นอย่างมาก จึงได้สั่งการมายังกระทรวงเกษตรฯ ให้หาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน ดังนั้นการได้มาเยี่ยมชมติดตามการดำเนินงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครั้งนี้ เป็นความยินดีอย่างยิ่งที่จะได้ใช้เทคโนโลยีลำไอออนพลังงานต่ำ ในการเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ที่จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพให้กับพันธุ์ข้าวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพร้อมของกรมการข้าวและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับเครื่องเร่งอานุภาคขนาดกระทัดรัดนั้น จะใช้ยิงแสงลำไอออน เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ข้าว โดยสามารถทำได้ครั้งละ 5000-10000 เมล็ดพันธุ์ ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ดังนั้น นอกจากจะปรับปรุงเครื่องเดิมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่คิดค้นขึ้นมา ตนจะหางบประมาณสำหรับสั่งซื้อเครื่องใหม่เพิ่มอีก 1-2 เครื่อง เพื่อความรวดเร็ว และเพียงพอต่อการดำเนินงาน เพราะกระทรวงเกษตรฯ มีความต้องการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ให้ชาวนาทั่วประเทศ ดังนั้น ตนต้องขอฝากให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโครงการฯ ให้เร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหากโครงการประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ จะช่วยชาวนาทั่วประเทศ และยกระดับมาตรฐานรายได้ให้กับชาวนาอย่างแน่นอน” รมช.ประภัตร กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ต.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top