นายชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา Digital Currency เงินดิจิทัลกับสถานการณ์ในประเทศไทย ว่า การนำสกุลเงินดิจิทัลมาใช้ในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดำเนินการด้านระบบการรับชำระเงิน
ซึ่งสามารถเพิ่มความสะดวกในการรับและจ่าย รวมไปถึงการช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานให้กับผู้ประกอบการได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ และมีความสะดวกรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงความน่าเชื่อถือของสกุลเงินดิจิทัลที่เลือกมาใช้ รวมไปถึงความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยของตัวกลางที่ให้บริการ
“การเปิดรับสกุลเงินดิจิทัลของผู้ประกอบการถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ อนาคตมองว่าสกุลเงินดิจทัลจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้น จะมีการใช้งานที่แพร่หลาย และมีโอกาสเข้ามาทดแทน Fiat Money ได้ จากที่หลายประเทศเริ่มมีการเริ่มคิดพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลมาใช้ และช่วยผู้ประกอบการในการลดต้นทุนได้ด้วย”
นายชลเดช กล่าว
สกุลเงินดิจิทัลในปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่รู้จักจะเป็น Cryptocurrency ที่เป็นระบบบล็อกเชน เช่น Bitcoin Etherium Solana และสกุลเงินดิจิทัลที่อ้างอิงกับสกุลเงินหลัก เช่น USDT เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการเก็บเหรียญผ่าน wallet ของตัวกลางที่ให้บริการ หากผู้ประกอบการมีความต้องการนำ Cryptocurrency ดังกล่าวมาใช้จะต้องเลือกตัวกลางที่ให้บริการระบบการทำธุรกรรม และ wallet ในการเก็บเหรียญที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อความปลอดภัยต่างๆในการทำธุรกรรมของผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบการหลายรายออกมารับชำระด้วย Cryptocurrency สกุลหลักๆมากขึ้น
ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ทางการของประเทศนั้นๆพัฒนาขึ้นมา อย่างเช่น CBDC (central bank digital currency) ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบ ซึ่งจะเป็นสกุลเงินที่ใช้เหมือนกับเงินบาท แต่เป็นในรูปแบบเงินดิจิทัล ซึ่ง ธปท.จะเป็นตัวกลางที่ให้บริการ และการจัดเก็บเงินจะถูกจัดเก็บใน wallet ที่ธปท.พัฒนาขึ้นมา ซึ่งมีความเชื่อถืออย่างมาก ซึ่งมองว่าหากนำออกมาใช้จริง CBDC จะได้รับความนิยมในการนำมาใช้อย่างแพร่หลายเป็นจำนวนมากในการทำธุรกรรมทางการเงินของประเทศไทย และเป็นสกุลเงินที่ทางสมาคมฟินเทคประเทศไทยแนะนำให้ใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพราะมีความเชื่อถือและความปลอดภัยมากกว่า Cryptocurrency อื่นๆ
สำหรับแนวคิดในการลงทุน Cryptocurrency ของผู้ประกอบการ แนะนำว่าหากมีความสนใจควรนำเงินที่เหลือนั้นมาลงทุนในสัดส่วนที่น้อยมาก เพราะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงและมีความผันผวนมาก ควรนำไปลงทุนด้านอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอและมีความผันผวนไม่มาก มีความเสี่ยงต่ำจะดีกว่า หรือนำไปใช้ในการลงทุนที่สามารถต่อยอดธุรกิจได้
ส่วนโอกาสในการระดมทุนผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) มองว่าผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระดมทุนเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องค่าธรรมเนียมและภาษี แม้ว่าปัจจุบันทางหน่วยงานกำกับของไทยจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการระดมเงินทุนเพื่อใช้ในการต่อยอดธุรกิจผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว และมีตัวอย่างของผู้ประกอบการที่ทำสินทรัพย์ดิจิทัลออกมาแล้ว เช่น SIRIHUB Token
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนกับแนวทางการระดมทุนในรูปแบบอื่นๆประกอบด้วย รวมถึงข้อกฎหมาย หากแนวทางอื่นๆสามารถระดมเงินทุนได้สะดวกกว่า มีค่าใช้จ่ายที่ถูกว่า และมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ดีกว่าการระดมทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล ควรเลือกการระดมทุนในรูปแบบอื่นแทน นอกจากนั้น ควรปรึกษาที่ปรึกษาทางกฎหมาย และเลือก ICO Portal ที่มีความน่าเชื่อถือ มีความเชี่ยวชาญ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ต.ค. 64)
Tags: CBDC, Cryptocurrency, คริปโทเคอร์เรนซี, ชลเดช เขมะรัตนา, ฟินเทค, สกุลเงินดิจิทัล, สมาคมฟินเทคประเทศไทย, สินทรัพย์ดิจิทัล