ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กรของ BBGI ที่ BBB+ แนวโน้ม Stable

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำด้านเชื้อเพลิงชีวภาพของบริษัทในประเทศไทยซึ่งบริษัทมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันจากความแข็งแกร่งของกลุ่มผู้ถือหุ้นหลัก ทั้งในด้านการจัดหาวัตถุดิบจนไปถึงการจำหน่าย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนลงจากอุปทานส่วนเกินของเชื้อเพลิงชีวภาพ การแข่งขันที่รุนแรง และกำไรที่มีความผันผวน

อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทนั้นยังสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อ บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) (ได้รับอันดับเครดิต “A-” แนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” จากทริสเรทติ้ง) โดยอันดับเครดิตของบริษัทได้รับการปรับเพิ่มขึ้น 1 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Stand-alone Credit Profile) ซึ่งอยู่ที่ระดับ “bbb”

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต ผู้นำด้านเชื้อเพลิงชีวภาพในประเทศไทย บริษัทเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพชั้นนำของประเทศไทย และยังเป็นผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทยรองจากกลุ่มมิตรผล โดยบริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินการโรงงานเอทานอล 3 แห่งผ่านทางบริษัทย่อย โดยมีกำลังการผลิตรวม 0.6 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 9% ของกำลังการผลิตเอทานอลในประเทศไทย และกำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.8 ล้านลิตรต่อวันในปี 2565 ตามโครงการขยายกำลังการผลิตของบริษัทซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเอทานอลจะใช้ผสมกับน้ำมันเบนซินเพื่อจำหน่ายเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์

ในขณะเดียวกัน บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินการโรงงานไบโอดีเซลที่มีกำลังการผลิต 1.0 ล้านลิตรต่อวันหรือคิดเป็น 11% ของกำลังการผลิตในตลาดทั้งหมด โดยไบโอดีเซลนั้นจะถูกนำไปผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อการจำหน่าย ในบรรดาผู้ผลิตไบโอดีเซลในประเทศไทย บริษัทอยู่ในอันดับที่สามตามส่วนแบ่งในตลาด

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทจำหน่ายเอทานอลได้รวม 84 ล้านลิตรหรือคิดเป็น 12.3% เทียบกับการจำหน่ายเอทานอลทั้งประเทศ ในขณะที่บริษัทจำหน่ายไบโอดีเซลรวมทั้งสิ้น 127 ล้านลิตรหรือคิดเป็น 14.1% ของการจำหน่ายไบโอดีเซลทั้งประเทศมีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน

ทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่ชัดเจนในตลาดเอทานอล โดยมีห่วงโซ่อุปทานที่สมบูรณ์ในการผลิตและจำหน่ายเอทานอล โดยบริษัทได้ประโยชน์จากสัญญาซื้อขายวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้ง บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) และ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL)

ในด้านการจัดหาวัตถุดิบ KSL เป็นผู้จัดหากากน้ำตาลให้บริษัทเป็นหลัก โดยกากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอล ภายใต้สัญญาซื้อขายวัตถุดิบระยะยาวนั้นบริษัทมีสิทธิในการซื้อกากน้ำตาลทั้งหมดจากโรงงานน้ำตาล 4 แห่ง ของ KSL ก่อนผู้ซื้อรายอื่น ซึ่งทริสเรทติ้งเห็นว่าสัญญาดังกล่าวช่วยลดทอนความเสี่ยงจากการขาดแคลนกากน้ำตาลได้อย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2563 บริษัทซื้อกากน้ำตาลจากบริษัทน้ำตาลขอนแก่นประมาณ 53% ของความต้องการ นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของบริษัทน้ำตาลขอนแก่นในการจัดซื้อกากน้ำตาลจากผู้จำหน่ายรายอื่น ๆ ด้วย

ในด้านการจำหน่าย บริษัทมีสัญญาซื้อขายเอทานอลระยะยาวกับ BCP โดยในปี 2563 บริษัทจำหน่ายเอทานอลให้แก่บริษัทบางจากประมาณ 63% ของการผลิตเอทานอลทั้งหมดของบริษัท นอกจากเอทานอลแล้ว BCP ยังมีสัญญาซื้อไบโอดีเซลระยะยาวกับบริษัทด้วย โดยในปี 2563 บริษัทจำหน่ายไบโอดีเซลประมาณ 89% ของยอดขายรวมให้แก่บริษัทบางจาก

– ความเสี่ยงด้านอุปสงค์ได้รับการบรรเทา จากการที่ BCP เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของบริษัท ทำให้บริษัทมีการผลิตในระดับที่เหมาะสมและยังช่วยบรรเทาความเสี่ยงด้านตลาดด้วย ในปี 2563 บริษัทสามารถเพิ่มอัตราการผลิตเป็นให้สูงกว่า 95% ของการผลิตเอทานอล ในขณะที่อัตราการผลิตไบโอดีเซลอยู่ที่ประมาณ 80% โดยระดับการผลิตดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ในบรรดาผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพในตลาดนั้น มีอัตราการการผลิตเฉลี่ยของเอทานอลและไบโอดีเซลในปี 2563 อยู่ที่ 65.6% และ 60.5% ตามลำดับ

ทริสเรทติ้งคาดว่าความต้องการใช้เอทานอลของ BCP จะอยู่ที่ประมาณ 300-340 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งสูงกว่ากำลังการผลิตของบริษัทที่ 198 ล้านลิตร ในขณะเดียวกันทริสเรทติ้งคาดว่า BCP มีความต้องการไบโอดีเซล 250-300 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งสามารถรองรับการผลิตของบริษัทได้ราว 75%-90% นอกจากนี้ ในอดีตที่ผ่านมาบริษัทยังสามารถจำหน่ายไบโอดีเซลที่เหลือให้แก่ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่อื่น ๆ ได้เช่นกัน ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อ BCP ในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

– อุปทานส่วนเกินของเชื้อเพลิงชีวภาพ แนวโน้มธุรกิจของบริษัทนั้นยังคงเผชิญกับภาวะอุปทานส่วนเกินของเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งสร้างแรงกดดันต่ออัตรากำไร กำลังการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพโดยรวมยังคงสูงกว่าความต้องการใช้ในประเทศ โดยผู้ผลิตเอทานอลทั้งหมดในตลาดสามารถผลิตเอทานอลได้สูงสุดถึง 6.1 ล้านลิตรต่อวัน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังคงดำเนินอยู่ ส่งผลให้ความต้องการใช้เอทานอลยังคงอยู่ที่ 3.8 ล้านลิตรต่อ ในขณะที่การบริโภคเอทานอลในปี 2563 อยู่ที่ 4.0 ล้านลิตรต่อวัน

ในขณะเดียวกัน กำลังการผลิตไบโอดีเซลของทั้งประเทศที่ 8.5 ล้านลิตรต่อวัน ยังคงสูงกว่าความต้องการของตลาด ส่งผลให้อัตรากำลังการผลิตโดยรวมของประเทศอยู่ที่ประมาณ 60.5% ในปี 2563 โดยในครึ่งแรกของปี 2564 ปริมาณการใช้ไบโอดีเซลของไทยอยู่ที่ 4.9 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งมีอัตรากำลังการผลิตโดยรวมของประเทศอยู่ที่ประมาณ 55.5% ตามแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศปี 2561-2580 กำหนดให้นำมันดีเซล บี 10 (น้ำมันดีเซลผสมกับไบโอดีเซล 10%) เป็นน้ำมันดีเซลหลักสำหรับการใช้ภายในประเทศแทนที่น้ำมันดีเซล B7 ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มความต้องการไบโอดีเซลได้อย่างน้อย 5%-10%

อย่างไรก็ตาม คาดว่าความต้องการใช้ไบโอดีเซลในประเทศจะยังไม่เพิ่มขึ้นไปถึง 8.0 ล้านลิตรต่อวัน จนกว่าจะถึงปี 2580 ดังนั้น ทริสเรทติ้งมองว่าอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอาจจะต้องใช้เวลาในการเข้าสู่สมดุล และการแข่งขันจะยังคงรุนแรงในระยะสั้นถึงปานกลาง ซึ่งจะส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นทั่วทั้งอุตสาหกรรมยังคงมีความผันผวนในระดับสูง

– แรงกดดันจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น วัตถุดิบที่สำคัญสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพมาจากผลิตผลทางการเกษตร เช่น อ้อย ผลปาล์ม และมันเส้น ซึ่งผลผลิตเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและจำนวนพื้นที่เพาะปลูกเป็นหลัก ในช่วงปี 2563 ถึง 6 เดือนแรกของปี 2564 ปริมาณการผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในประเทศไทย ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบสำหรับเชื้อเพลิงชีวภาพมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วสำหรับทั้งเอทานอลและไบโอดีเซล

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ราคากากน้ำตาลได้มีการปรับตัวสูงขึ้น 13.5% ส่งผลให้ราคากากน้ำตาลอยู่ที่ 3.9 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบมีการปรับตัวสูงขึ้น 20.4% ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 33.7 บาทต่อกิโลกรัม ในทางกลับกัน ความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์และดีเซลกลับลดลง 1.2% สร้างแรงกดดันต่อความต้องการใช้เอทานอลและไบโอดีเซล บริษัทไม่สามารถส่งผ่านราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นไปถึงลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพรายอื่น ส่งผลให้อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัท ลดลงเป็น 10.4% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 จาก 13.7% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563

– มุ่งหน้าสู้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง ในระยะยาวบริษัทมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพระดับโลกด้วยนวัตกรรมสีเขียวแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด (S-curve Growth) โดยธุรกิจใหม่นี้จะสร้างความแข็งแกร่งในการจัดหาผลิตผลทางการเกษตร รวมถึงนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

ในปี 2563 บริษัทได้ใช้เงินประมาณ 800 ล้านบาทในการซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์ที่แปลงสภาพได้ (Series B Preferred Stock) ของ Manus Bio Inc. ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำด้านผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงระดับโลกตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันที่ผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยีการหมักขั้นสูง นอกจากนี้ บริษัทยังได้เข้าสู่ตลาดผู้บริโภคด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีส่วนผสมจากแอสตาแซนธิน (Asta-Immu) ภายใต้แบรนด์ “B Nature +” และผลิตภัณฑ์เจลทำความสะอาดมือเกรดเภสัชกรรมในเดือนกันยายน 2564 ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงนี้จะใช้ระยะเวลาพอสมควรในการสร้างผลกำไรอย่างมีนัยสำคัญกลับมาให้บริษัท

– สถานะทางการเงินที่เหมาะสม ในปี 2563 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย อยู่ที่ 1.8 พันล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 14.5% โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดจากส่วนต่างราคาของเอทานอลและไบโอดีเซลเมื่อเทียบกับวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับบริษัทได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดด้วย

สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2564 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย อยู่ที่ 722 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงมาอยู่ที่ 10.4% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบที่ส่งผลให้ส่วนต่างราคาของเอทานอลและไบโอดีเซลเมื่อเทียบกับวัตถุดิบปรับตัวลดลง

บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการขยายกำลังการผลิตเอทานอล การก่อสร้างโรงงานผลิตกลีเซอรีนบริสุทธิ์ การก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ รวมถึงหม้อไอน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ส่งผลให้ ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มขึ้นเป็น 5.8 พันล้านบาท ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย อยู่ที่ 3 เท่า (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง)

ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 ในขณะที่บริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 1.0-1.5 พันล้านบาทต่อปี โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถเพิ่มปริมาณการขายเอทานอลจากการขยายกำลังการผลิตได้ในขณะที่ยังสามารถรักษาส่วนต่างราคาเอทานอลให้อยู่ในระดับปกติได้ และยังคาดว่าส่วนต่างราคาของไบโอดีเซลน่าจะกลับไปอยู่ในระดับปกติในช่วงประมาณการ แม้ว่าจะยังมีภาวะอุปทานส่วนเกินอยู่

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.8 พันล้านบาทในช่วงประมาณการเพื่อการซ่อมบำรุง ขยายกำลังการผลิตเอทานอล ก่อสร้างโรงงานผลิตกลีเซอรีนบริสุทธิ์ โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ หม้อไอน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวมถึงลงทุนในธุรกิจใหม่ด้วย จากแผนการลงทุนดังกล่าว ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 40%-44% ในช่วงปี 2564-2566 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย จะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 5 เท่าในปี 2564 ก่อนที่จะลดลงอยู่ในระดับประมาณ 4 เท่าในช่วงปี 2565-2566

– มีแผนการเพิ่มทุน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 216.6 ล้านหุ้น หรือไม่เกิน 30% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด บริษัทมีแผนจะใช้เงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO เพื่อลงทุน เพื่อขยายธุรกิจและโครงการลงทุนธุรกิจชีวภาพในอนาคต ชำระคืนเงินกู้ที่ค้างชำระแก่สถาบันการเงิน ชำระคืนหุ้นกู้ และใช้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียน

ทั้งนี้ การคาดการณ์กรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งยังไม่ได้รวมเงินได้รับจากการเสนอขายหุ้น IPO และการลงทุนในโครงการในธุรกิจชีวภาพในอนาคต

– สภาพคล่องที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอสำหรับการจัดการกับภาระหนี้ที่จะครบกำหนดในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินทั้งสิ้น 5.3 พันล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้นที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 1.5 พันล้านบาท เงินกู้ระยะยาวจำนวน 2.5 พันล้านบาท และหุ้นกู้จำนวน 1.3 พันล้านบาท ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า บริษัทมีเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระคืนทั้งสิ้นประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งบริษัทสามารถชำระคืนได้จากการที่บริษัทมีเงินสดในมือประมาณ 600 ล้านบาท และคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 800 ล้านบาท

โครงสร้างเงินทุน

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีภาระหนี้สินจำนวน 5.3 พันล้านบาท ซึ่งรวมถึงหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนเงินก่อนประมาณ 4.0 พันล้านบาท โดยหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนเงินก่อนนั้นประกอบไปด้วยหนี้ที่มีหลักประกัน 1.8 พันล้านบาท และหนี้ไม่มีหลักประกันที่บริษัทย่อยจำนวน 2.2 พันล้านบาท ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนเงินก่อนต่อภาระหนี้ทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 76%

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

– กำลังการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นเป็น 8.0 แสนลิตรต่อวันในปี 2565 จาก 6.0 แสนลิตรต่อวันในปี 2564 และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตประมาณ 90%-95%

– กำลังการผลิตไบโอดีเซลอยู่ที่ 1.0 ล้านลิตรต่อวัน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตประมาณ 80% ในปี 2564 และ 90% ในช่วงปี 2565-2566

– อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย อยู่ที่ประมาณ 8%-10% ในช่วงปี 2564-2566

ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนทั้งหมดในโครงการที่ยืนยันแล้วคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.8 พันล้านบาทในช่วงปี 2564-2566
ไม่รวมเงินทุนใหม่ที่จะได้รับจากแผนการเพิ่มทุน (IPO) ของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพได้ และยังคงได้รับประโยชน์จากการมีสัญญาซื้อขายวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์จากผู้ถือหุ้นหลักของบริษัททั้ง 2 ราย ทริสเรทติ้งยังคาดว่าการประหยัดจากขนาดจะช่วยให้บริษัทบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางสภาวะที่อุตสาหรรมยังมีอุปทานส่วนเกินอยู่

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และ/หรือ ธุรกิจใหม่ได้อย่างมีนัยสำคัญในขณะที่โครงสร้างเงินทุนยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม ในทางตรงกันข้ามอันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทด้อยกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการอย่างมาก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ต.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top