นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ยืนยันความพร้อมในการให้บริการของสนามบินในความรับผิดชอบของ AOT ทั้ง 6 แห่งตามแผนการเปิดประเทศของภาครัฐ ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ โดยให้ความสำคัญกับสุขอนามัยที่ดีของผู้ใช้บริการสนามบินตามมาตรการ Universal Prevention โดยได้นำนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองการเดินทางแบบชีวิตวิถีใหม่ (Transport New Normal) มาให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ผู้โดยสารให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย และเกิดความเชื่อมั่นในการเดินทางมายังประเทศไทย อันจะนำมาสู่การฟื้นฟูทางด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และช่วยขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
อนึ่ง AOT บริหารท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่
จากความจุของแบบอากาศยาน AOT จึงคาดว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางผ่าน ทสภ.จำนวนทั้งสิ้น ประมาณ 30,000 คน แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ ประมาณ 23,000 คน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณ 7,000 คน ซึ่ง AOT ได้นำเครื่อง KIOSK สำหรับเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service : CUSS) จำนวน 196 เครื่อง และเครื่อง KIOSK รับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop : CUBD) จำนวน 42 เครื่อง ที่มีมาตรฐานตามที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) กำหนดมาให้บริการผู้โดยสารในกระบวนการพิธีการผู้โดยสารขาออก ซึ่งได้ติดตั้งกระจายอยู่บริเวณแถวเช็กอินตั้งแต่ Row B ถึง Row U ชั้น 4 อาคารผู้โดยสาร ทสภ.
นอกจากความพร้อมในการรองรับผู้โดยสารสำหรับการเปิดประเทศแล้ว ในอนาคตที่การเดินทางจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติดังก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจะทำให้ ทสภ.รองรับผู้โดยสารเกินขีดความสามารถ ดังนั้น AOT จึงได้วางแผนจะเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) เพื่อแบ่งผู้โดยสารมาจากอาคารผู้โดยสารหลัก ซึ่งจะทำให้ ทสภ.สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 30 ล้านคน
โดยอาคาร SAT-1 เป็นอาคารที่อยู่ในเขตพื้นที่การบิน (Airside) จะให้บริการผู้โดยสารขาออกที่ได้ทำการเช็กอินและโหลดกระเป๋าสัมภาระ ณ อาคารผู้โดยสารหลักเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นผู้โดยสารเดินเข้าไปในเขต Airside ตรงไปยังด้านหลังเกษียรสมุทร บริเวณชั้น 4 Concourse D และลงไปยังสถานีรถไฟฟ้า APM (Automated People Mover) เพื่อนั่งรถไฟฟ้า APM มายังอาคาร SAT-1 ในส่วนของผู้โดยสารขาเข้า เมื่อลงเครื่องแล้ว ต้องลงไปยังชั้น B2 เพื่อนั่งรถไฟฟ้า APM มายังอาคารผู้โดยสารหลักไปยังห้องโถงผู้โดยสารขาเข้า และจุดรับกระเป๋าสัมภาระต่อไป ส่วนผู้โดยสารต่อเครื่อง (Transit/Transfer Passenger) จะสัญจรเฉพาะระหว่างชั้น 2 และชั้น 3 เท่านั้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันอาคาร SAT-1 ซึ่งรวมถึงส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบการทำงานร่วมกันของแต่ละระบบ และทดสอบเดินรถไฟฟ้า APM (System Demonstration) ในส่วนของระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า และระบบตรวจจับวัตถุระเบิดอยู่ระหว่างการติดตั้ง และเชื่อมต่อกับระบบเดิม โดยสำหรับรถไฟฟ้า APM จะให้บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักและอาคาร SAT-1 ในระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 นาที และสามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากถึง 210 คนต่อขบวน หรือประมาณ 5,900 คนต่อชั่วโมง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ต.ค. 64)
Tags: AOT, ทอท., ท่าอากาศยานไทย, นิตินัย ศิริสมรรถการ, สนามบินสุวรรณภูมิ, หุ้นไทย, เปิดประเทศ