บมจ.ไทยพาร์เซิล ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 120 ล้านหุ้น คิดเป็น 22.90% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาท/หุ้น และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมี บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ไทยพาร์เซิล ให้บริการหลักคือการรับสินค้าหรือพัสดุภัณฑ์จากจุดบริการทั่วประเทศหรือรับจากลูกค้าโดยตรง แล้วรวบรวมมาคัดแยกที่จุดคัดแยก เพื่อนำไปส่งที่จุดหมายปลายทาง โดยโครงสร้างรายได้ของกลุ่มบริษัทสามารถแบ่งได้ตามประเภทของการจัดส่ง ดังนี้ 1) การจัดส่งแบบธุรกิจถึงธุรกิจ (Business to Business: B2B) 2) การจัดส่งแบบบุคคลถึงบุคคล (Customer to Customer: C2C) และ 3) การจัดส่งแบบธุรกิจถึงบุคคล (Business to Customer: B2C)
วัตถุประสงค์การระดมทุนครั้งนี้เพื่อใช้ในการซื้อที่ดินและก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าและ/หรือจุดให้บริการ ซื้อยานพาหนะ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของบริษัท และ ชำระหนี้คืนแก่สถาบันการเงิน
ปัจจุบันบริษัทมีศูนย์คัดแยกและกระจายสินค้าหลัก 1 แห่ง ตั้งที่อยู่สำนักงานใหญ่ลาดกระบัง กรุงเทพ บริษัทจึงมีแผนจะลงทุนซื้อที่ดินหรือเช่าที่ดินระยะยาว เพื่อสร้างศูนย์คัดแยกและกระจายสินค้าระดับภูมิภาค (Regional Hub) เพิ่มเติมอีก 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ภูมิภาค จ.พิษณุโลก, ศูนย์ภูมิภาค จ. นครราชสีมา และศูนย์ภูมิภาค จ.สุราษฎร์ธานี รวมทั้งจะเพิ่มศูนย์กระจายสินค้า (Hub) เพิ่มอีก 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์กระจายสินค้ากรุงเทพฝั่งเหนือ และศูนย์กระจายสินค้ากรุงเทพฝั่งตะวันออก เงินลงทุนก่อสร้างและซื้ออุปกรณ์คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 284 ล้านบาท
พร้อมกันนั้น บริษัทยังมีแผนการลงทุนในยานพาหนะทั้งรถ 10 ล้อ และรถ 6 ล้อ ในปี 64-68 คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 163 ล้านบาท รวมทั้งลงทุนในอุปกรณ์และเครื่องมือ มูลค่ารวมประมาณ 5 ล้านบาท
บริษัทมีทุนจดทะเบียน ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 เท่ากับ 262 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยมีทุนเรียกชำระแล้ว 202 ล้านบาท คิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 404 ล้านหุ้น และภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO จะมีทุนชำระแล้ว 262 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนหุ้นสามัญทั้งสิ้น 524 ล้านหุ้น
โครงสร้างผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย 1.กลุ่มครอบครัวผู้บริหาร ได้แก่ ตระกูลจีนะวิจารณะ และจังตระกูลชัย รวมถือ 80.54% ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO จะลดสัดส่วนลงเหลือ 62.10% 2. กลุ่มกรรมการและผู้บริหาร ได้แก่ นายภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา นายนันทิวัฒน์ พงษ์เจริญ นายนิติ ปัญญาวิศิษฏ์กุล นายวิชิต แสงทองสถิตย์ รวมถือ 1.15% จะลดการถือหุ้นลงเหลือ 0.87%
นอกจากนั้น ยังมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่อื่น ๆ ได้แก่ นายสุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คอมเซเว่น (COM7) ถือ 6.55% จะลดลงเหลือ 5.06% น.ส.สุธิดา มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) (SYNEX) 4.33% จะลดลงเหลือ 3.34% นายพงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี ผู้ถือหุ้นใหญ่ในหลายบริษัท 2.48% จะลดลงเหลือ 1.91% นายพีรเจต สุวรรณนภาศรี อดีตกรรมการผู้จัดการ บมจ.ยูเนี่ยน ปิโตรเคมีคอล (UKEM) ถือ 1.98% จะลดลงเหลือ 1.53% นายบัญชา พันธุมโกมล ผู้ถือหุ้นใหญ่ในหลายบริษัท ถือ 1.98% จะลดลงเหลือ 1.53%
ผลประกอบการในช่วงปี 61-63 บริษัทมีรายได้จากให้บริการจำนวน 484.15 ล้านบาท 572.41 ล้านบาท และ 703.22 ล้านบาท ตามลำดับ ประกอบไปด้วยรายได้ B2B รายได้ C2C และรายได้ B2C โดยมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 91.01 ล้านบาท 121.64 ล้านบาท และ 236.24 ล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็นอัตราส่วนกำไรขั้นต้นต่อรายได้จากการบริการเท่ากับ 18.80%, 21.25% และ 33.59%
ขณะที่มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 23.82 ล้านบาท 36.83 ล้านบาท และ 127.66 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นการเติบโตของกำไรสุทธิที่ 54.61% ในปี 62 และ 246.64% ในปี 63
ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปี 64 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการ 257.19 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 382.40 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิ 17.68 ล้านบาท ลดลงจาก 82.39 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิลดลง 64.71 ล้านบาท หรือคิดเป็นลดลง 78.54% เนื่องจากรายได้กลุ่ม B2C ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยถึงแม้ว่ารายได้จากกลุ่ม B2B จะเติบโตเพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมรายได้จากการให้บริการยังลดลงอยู่
ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 บริษัทมีสินทรัพย์ 678.13 ล้านบาท หนี้สิน 267.54 ล้านบาท และส่วนผู้ถือหุ้น 410.59 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการหลังหักภาษีเงินได้และเงินสำรองต่าง ๆ ทุกประเภท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ต.ค. 64)
Tags: IPO, mai, พัสดุภัณฑ์, หุ้นไทย, หุ้นไอพีโอ, เอ็ม เอ ไอ, ไทยพาร์เซิล