นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 33.35/37 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเปิดตลาดเมื่อเช้าอยู่ที่ระดับ 33.17 บาท/ดอลลาร์
เย็นนี้เงินบาทปิดอ่อนค่า หลังจากตลาดหุ้นไทยมีแรงเทขาย ประกอบกับตลาดทองคำโดนเทขาย โดยในช่วงเช้าลงมาอยู่ที่ประมาณ 1,790 ดอลลาร์/ออนซ์ และขณะนี้อยู่ที่ 1,786 ดอลลาร์/ออนซ์ จึงส่งผลให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่า โดยระหว่างวันเงินบาท เคลื่อนไหวในกรอบ 33.15-33.37 บาท/ดอลลาร์
ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ตลาดรอดูการประชุมนโยบายการเงิน และแถลงมติอัตราดอกเบี้ย ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ของวันพรุ่งนี้ (28 ต.ค.) เป็นหลัก
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 33.20-33.40 บาท/ดอลลาร์
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 113.60/65 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าที่ระดับ 114.08 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1590/92 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าที่ระดับ 1.1600 ดอลลาร์/ยูโร
- ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,627.61 จุด ลดลง 8.36 จุด (-0.51%) มูลค่าการซื้อขาย 69,387.66 ล้านบาท
- สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 2,326.10 ลบ.(SET+MAI)
- คณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือของกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund:BSF) ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2565 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่แน่นอนสูง
- รมว.คลัง คาดเศรษฐกิจไทย ปี 2564 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 1% หลังจากเริ่มเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พ.ย. ซึ่งจะทำให้มีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยในช่วงปลายปีนี้จะเป็นการเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม และคาดว่าในปี 65 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 6 ล้านคน
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ย.64 อยู่ที่ระดับ 93.72 หดตัว -1.28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือน ส.ค.64 ที่หดตัว -4.71% โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตในเดือนก.ย. ได้แก่ สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของแรงงาน ในสถานประกอบการในเดือนก.ย.64 ในภาพรวมมีทิศทางที่ดีขึ้น
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 64 เพิ่มขึ้นมาเป็นขยาย
ตัว 0.2% จากเดิมที่คาดว่าหดตัว 0.5% จากผลการคลายล็อกดาวน์และการเปิดประเทศที่เร็วขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ - ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) ชี้ภาคการส่งออก จะยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง แม้ในอีก 3 เดือนที่เหลือของปีอาจเห็นแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลง จากปัจจัยในเรื่องของฐานและ pent up demand (ความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว) ที่เริ่มลดลง แต่โดยรวมทั้งปีการส่งออกของไทย น่าจะยังขยายตัวอยู่ในระดับสูง และมีโอกาสที่ตัวเลขคาดการณ์ส่งออกจะสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 12.4%
- รัฐบาลญี่ปุ่น ประกาศปรับลดการประเมินเศรษฐกิจของประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน หลังได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลก รวมถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ส่งแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมยานยนต์
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เริ่มการประชุมนโยบายการเงิน เพื่อประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนพลังงานและวัสดุที่พุ่งขึ้นอย่างมาก รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินเยน โดยปัญหาเหล่านี้กำลังบดบังความหวังในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 64)
Tags: ค่าเงินบาท, ธนาคารกรุงเทพ, เงินบาท