สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ย.64 อยู่ที่ระดับ 93.72 หดตัว 1.28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนส.ค.ที่หดตัว 4.71%
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตในเดือนก.ย. ได้แก่ สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของแรงงาน ในสถานประกอบการในเดือนก.ย.64 ในภาพรวมมีทิศทางที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังส่งผลต่อการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนรถยนต์บางรายการ แต่มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยโรงงานผลิตรถยนต์ได้รับชิปและชิ้นส่วนรถยนต์มากขึ้น ด้านสถาบันการเงินก็เริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดในการอนุมัติทำให้คาดว่ายอดขายในประเทศน่าจะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปีที่ 750,000 คัน และส่งผลให้การผลิตรถยนต์ขยายตัวต่อเนื่องตามกัน
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศ ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ทั้งนี้อาจส่งผลกระทบบ้างในด้านโลจิสติกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพิงวัตถุดิบทางการเกษตรอาจจะได้รับผลกระทบบ้างในระยะถัดไป
ขณะที่ไตรมาสที่ 3/64 หดตัวเล็กน้อย 0.77% ส่วน 9 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) ขยายตัวเฉลี่ยที่ 6.10%
“ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ย.อยู่ที่ระดับ 93.72 หดตัวลงเล็กน้อย 1.28% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัว 7.49% โดย 9 เดือนแรกขยายตัว 6.10% ภาพรวมของอุตสาหกรรมหลักของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าว
ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าวว่า การส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มของการขยายตัวที่ดี โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนก.ย.ขยายตัว 15.75% มูลค่า 18,424.90 ล้านดอลลาร์ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) ขยายตัว 17.90% มูลค่า 18,093.70 ล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ในส่วนการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 16.06% ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ รวมถึงการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวสูงถึง 43.56% ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตที่ส่งผลบวกขยายตัวในเดือนก.ย.64 ได้แก่
- ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 13.12% ตามความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่ยังขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกในปีก่อน รวมถึงสินค้าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ผลิตออกมามีการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนประกอบเพิ่มขึ้นมาก
- เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 13.61% จากเหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และเหล็กแผ่นรีดร้อน เป็นหลัก ตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ยังคงเติบโต และเป็นไปตามกลไกตลาดที่ราคาเหล็กปรับตัวสูง ลูกค้าจึงเพิ่มคำสั่งซื้อเพื่อเก็บเป็นสต๊อกมากขึ้น
- เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 20.24% เนื่องจากปีก่อนผู้ผลิตประสบปัญหาการขาดชิ้นส่วนเพื่อผลิตจากการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับปีนี้ผู้ผลิตได้ปรับแผนการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยการผลิตที่ลดลงมากจากการติดเชื้อภายในโรงงานในเดือนที่ผ่านมา
- ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.32% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากยางแท่งและยางแผ่นเป็นหลัก เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน และอเมริกา รวมถึงได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าใหม่ในแถบยุโรป สหรัฐอเมริกาและอินเดีย เพิ่มขึ้น
- บุหรี่ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 71.29% จากการเร่งผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากตัวแทนจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นมาก หลังรับข่าวการปรับโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ที่จะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64
ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ในเดือน พ.ย.64 จะมีการพิจารณาปรับเป้าดัชนี MPI และจีดีพีภาคอุตสาหกรรมของปีนี้ และปี 65 ด้วย ส่วนผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานนั้น ในขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่หากราคาพลังงานยังทรงตัวในระดับสูงเป็นระยะเวลานานอาจจะมีผลกระทบตามมาได้
ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า เชื่อมั่นว่านโยบายการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ จะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่จะทำให้ดัชนี MPI ขยายตัวต่อไปได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 64)
Tags: MPI, ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, สศอ., สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม