นายกฯ ประชุมสุดยอดอาเซียน เร่งขับเคลื่อนข้อริเริ่ม-ร่วมมือแก้โควิดในภูมิภาค

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำสมาชิกอาเซียน ซึ่งที่ประชุมมีประเด็นหารือหลักๆ ได้แก่ การรับมือกับความท้าทายสำคัญ โควิด-19 โดยบรูไน ในฐานะประธานได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดและผลกระทบของโควิด-19 โดยได้ติดตามความคืบหน้าและพัฒนาการที่สำคัญของประชาคมอาเซียนด้วย

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเห็นว่าการต่อสู้กับโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของภูมิภาคต่อภัยคุกคาม ดังนั้น นอกจากจะต้องร่วมมือกันแก้ไขเรื่องการแพร่ระบาด และผลกระทบของโควิด-19 แล้ว ควรถอดบทเรียนจากโควิด-19 มาใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประชาคมอาเซียน พร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคต ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอประเด็นที่อาเซียนควรให้ความสำคัญ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

ประการแรก ต้องดำเนินการตามข้อริเริ่มในกรอบอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรียินดีที่มีความคืบหน้ากรณีการเงินจากกองทุนอาเซียนจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 และหวังว่าประเทศสมาชิกจะได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงโดยเร็ว ทั้งนี้ ไทยได้แจ้งรายการสิ่งของที่บริจาคแก่คลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์อาเซียนฯ แล้ว หวังว่าจะมีการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งอาเซียนควรเสริมสร้างความพร้อมในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ และเสริมสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขในระยะยาว ส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ซึ่งไทยกำลังพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ และยินดีร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนในเรื่องนี้ต่อไป

ประการที่สอง ควรเริ่มเปิดภูมิภาคและส่งเสริมการเดินทางไปมาหาสู่กันอย่างปลอดภัย ใช้ประโยชน์จากกรอบการจัดทำระเบียงการเดินทางของอาเซียน และควรจัดทำแนวทางการรับรองวัคซีนระหว่างกัน เพื่อความสะดวกในการเดินทาง ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้เปิดพื้นที่นำร่องต้อนรับนักท่องเที่ยวภายใต้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และสมุยพลัสไปแล้ว และจะเริ่มเปิดประเทศอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เป็นต้นไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าต้องหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการที่ไม่จำเป็น และเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายสินค้า เพื่อรักษาความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน และใช้ประโยชน์จากตลาดภายในอาเซียนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการนี้ นายกรัฐมนตรีหวังว่าเพื่อส่งเสริมสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการค้าการลงทุน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะมีผลใช้บังคับตามเป้าหมาย และจะเดินหน้าการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดาได้โดยเร็ว

ประการที่สาม โควิด-19 ตลอดจนภัยธรรมชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุทกภัย ไฟป่า และหมอกควันข้ามพรมแดน สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของแนวทางการพัฒนาในปัจจุบันที่เน้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยละเลยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นที่มาของวิกฤตต่าง ๆ ที่รุนแรง ดังนั้น ถึงเวลาที่จะต้องปรับกระบวนทัศน์ในการใช้ชีวิตทุกด้าน เพื่อสร้างความสมดุล ทำให้การฟื้นฟูและพัฒนาอาเซียนเป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ไทยดำเนินการอยู่

นายกรัฐมนตรี เห็นว่า “วาระสีเขียวของอาเซียน” ควรเป็นแนวทางของภูมิภาคในอนาคต เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเป็นมิตรกับโลก โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสีเขียวเข้ามาช่วยสนับสนุน และต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงจากทุกภาคส่วน อาทิ

  1. การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แก้ปัญหาภาวะโลกร้อน
  2. การใช้ทรัพยากรทั้งในดินและในทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค
  3. การส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสู่เป้าหมาย “Digital ASEAN”
  4. การพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีสวัสดิภาพและมีคุณภาพชีวิต
  5. การเงินสีเขียว สนับสนุนการลุงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน และส่งเสริมการรวมตัวของภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อให้อาเซียนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของโลก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ต.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top