นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยในรายการห่วงใย Thai Business ว่า ด้วยเทรนด์ในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจ Oil&Gas ต้องเผชิญกับเมกะเทรนด์ หรือ ความต้องการใช้น้ำมันที่จะปรับตัวลดลงหลังช่วง 10-15 ปีข้างหน้า โดยจะถูกทดแทนด้วยรถยนต์ไฟฟ้า (EV), เครื่องจักรที่ใช้น้ำมันก็จะเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เรียกว่า Energy Disruption หรือ Energy Transition คือการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น มีการเจรจาผ่านออนไลน์กันมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งมองว่าการใช้ชีวิตของคนก็จะเปลี่ยนไปสู่ New Normal จากวิกฤตโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่ง
จากปัจจัยดังกล่าว บริษัทฯ ได้มีการปรับตัวอย่างหนัก โดยได้วางยุทธศาสตร์ในการทรานฟอร์มสู่การเป็น Energy and Chemical ซึ่งจะไม่ได้ผลิตแต่น้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว แต่จะต่อยอดไปสู่ปิโตรเคมี จำพวกเคมีภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงมากขึ้นในอนาคต
แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว สามารถแบ่งออกเป็น 3V ได้แก่
- Value Maximization การต่อยอดจากธุรกิจโรงกลั่น สู่ธุรกิจปิโตรเคมี สายโอเลฟินส์ ล่าสุดบริษัทได้เข้าไปร่วมลงทุนในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ประเทศอินโดนีเซีย ผ่านบริษัทย่อย ใช้เงินลงทุนราว 40,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายไปสู่สายโอเลฟินส์ของบริษัทฯ
- Value extension
- Value Diversification เพื่อก้าวสู่การเป็นธุรกิจพลังงาน และเคมีภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ บริษัทยังวางแนวทางการบริหารความเสี่ยงขององค์กร ด้วย 3 สิ่ง คือ ความคล่องตัว ความรวดเร็ว เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง, ความยืดหยุ่น และความสามารถ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง คาดว่าด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวของบริษัทฯ จะช่วยให้บริษัทเติบโตก้าวสู่ปีที่ 100 ได้
สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะกลับมาดีขึ้น แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยังอยู่ แต่เริ่มคลี่คลายลง และประเทศไทยก็มีการคลายล็อกดาวน์มากขึ้น ทำให้เชื่อมั่นว่าจะเป็นเวลาที่ดีที่ธุรกิจของบริษัทจะกลับมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ในปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่ามี Black Swan หลายตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโควิด-19 การล็อกดาวน์ทั่วโลก และสงครามราคาน้ำมัน ส่งผลกระทบต่อ TOP ไปค่อนข้างมาก โดยปีที่แล้วไตรมาส 1 ไตรมาสเดียวเราขาดทุนไปราว 14,000 ล้านบาท แต่ 3 ไตรมาสหลังก็ได้คืนกลับมา หรือมีกำไรประมาณ 10,000 ล้านบาท แม้สถานการณ์จะไม่เอื้อต่อเราเลย ทั้งเรื่องโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดต่อเนื่อง, ค่าการกลั่น GRM ที่ปรับตัวลงไปกว่า 1 เหรียญฯ/บาร์เรล จากระดับปกติที่อยู่ราว 3-4 เหรียญฯ/บาร์เรล และบางช่วงในไตรมาส 3/63 ก็ติดลบ หรือการกลั่นน้ำมันขาดทุน แต่โชคดีที่เรามีบริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน ทำให้ช่วยผยุงกลุ่มบริษัทฯ เอาไว้ และส่งผลให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนในปีที่แล้วราว 3,000 ล้านบาท ซึ่งมองว่าไม่ได้แย่มาก และปีนี้คาดว่าจะกลับมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
นายวิรัตน์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ต.ค. 64)
Tags: TOP, ธุรกิจปิโตรเคมี, วิรัตน์ เอื้อนฤมิต, หุ้นไทย, ไทยออยล์