ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,675 ราย ประกอบด้วย
– ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,931 ราย
– จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 532 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 201 ราย
– ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 11 ราย มาจากมาเลเซีย (ช่องทางธรรมชาติ) เมียนมา (ช่องทางธรรมชาติ) ประเทศละ 1 ราย เดนมาร์ก 2 ราย รัสเซีย 3 ราย กัมพูชา 4 ราย
ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายด้วยการตรวจ ATK 3,525 ราย
– เสียชีวิต 44 ราย เป็นชาย 19 ราย หญิง 25 ราย อายุเฉลี่ย 69 ปี (25-88 ปี) เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 30 ราย คิดเป็น 68% ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปีมีโรคเรื้อรัง 12 ราย คิดเป็น 27% และไม่มีโรคเรื้อรัง 2 ราย คิดเป็น 5%
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 1,859,157 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 9,589 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 18,799 ราย
จังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 903 ราย, ปัตตานี 618 ราย, สงขลา 586 ราย, นครศรีธรรมราช 582 ราย, เชียงใหม่ 352 ราย, นราธิวาส 352 ราย, ยะลา 340 ราย, ชลบุรี 295 ราย, สมุทรปราการ 274 ราย และ ตรัง 248 ราย
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ใน 10 อันดับมี 6 จังหวัดภาคใต้ติดอยู่ในชาร์ตติดเชื้อสูงสุด ซึ่งปัตตานี ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 นอกจากนี้ มีบางจังหวัดในกลุ่ม 17 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว คือ กทม. สมุทรปราการ
ส่วนคลัสเตอร์การติดเชื้อ ยังพบการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล และ คลัสเตอร์ใหม่ๆ ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานและบริษัทเอกชนใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กลุ่มแรงงานใน จ.แม่ฮ่องสอน อีกทั้งยังพบในชุมชนและตลาดในหลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ลพบุรี เพชรบุรี ขณะที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้พบการติดเชื้อในวงน้ำชา ที่มีการล้อมวงดื่มน้ำชากันยามเช้า รวมถึงวงน้ำกระท่อม โดยใช้แก้วเดียวกัน
สำหรับเกณฑ์การเปิดประเทศ พญ.อภิสมัย ชี้แจงว่า การเปิดประเทศต้องอยู่ภายใต้ระบบสาธารณสุขที่รองรับได้ และเป็นการเปิดแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการเปิดประเทศ และอนุญาตให้เดินทางเข้าไทยได้ใน 45 ประเทศ + ฮ่องกง เป็นการอำนวยความสะดวกให้คนไทยสามารถกลับบ้านได้ โดยไม่ต้องกักตัว และบางประเทศยังไม่อนุญาตให้คนออกนอกประเทศได้ และการบินพลเรือนยังต้องจำกัดเที่ยวบินในการเดินทาง ยังไม่ได้เปิดโดยเสรีแต่อย่างใด
ส่วนความกังวลที่บางจังหวัด ในพื้นที่สีฟ้านำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด ยังมีการติดเชื้อสูงอยู่ จะมีการชะลอการเปิดไปก่อนหรือไม่นั้น เรื่องนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขมีเกณฑ์ประเมินหลายด้าน โดยเน้นถึงการครอบคลุมฉีดวัคซีนในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงดูจากอัตราการเสียชีวิตและอัตราการป่วยหนัก และต้องประเมินว่า ระบบสาธารณสุขในพื้นที่นั้นๆสามารถรองรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ หากพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน กระทรวงสาธารณสุขมีเกณฑ์ประเมินมาตรการรองรับที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ เช่น กรณีจังหวัดเพชรบูรณ์ ทางผู้ว่าจังหวัดได้มีการสั่งปิดภูทับเบิกใน 2 อำเภอ สามารถช่วยจำกัดวงติดเชื้อได้ไม่ให้กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ และในจังหวัดนำร่องพื้นที่สีฟ้า หากมีแนวโน้มแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ทางจังหวัดจะมีต้องมีการนำเสนอแผนเผชิญเหตุด้วย
พญ.อภิสมัย กล่าวถึง มาตรการ COVID Free Setting ในร้านค้า ร้านอาหาร ซึ่งมีข้อสังสัยว่า หากผู้ใช้บริการยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจะถูกปฏิเสธไม่ให้ใช้บริการในร้านค้าหรือไม่ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการบังคับแต่เป็นการขอความร่วมมือขั้นสูงสุด เพราะถ้าหากผู้ประกอบการละเลยไม่ปฏิบัติตาม บุคลากรในร้านถือว่ามีความเสี่ยง รวมไปถึงผู้มาใช้บริการด้วย แต่ต้องให้ประชาชนมีเวลาปรับตัว สามารถยืดหยุ่นได้ เช่น การจัดโซนในร้านอาหารทั้งโซนในส่วนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม กับโซนสำหรับผู้ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เป็นต้น
ทั้งนี้ พญ.อภิสมัย กล่าวถึงผลการประชุมศบค.ส่วนหน้า จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมเน้นย้ำเรื่อง การตาย 80% อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคและหญิงตั้งครรภ์ และ 90% ในกลุ่มผู้เสียชีวิตไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนหรือยังได้รับวัคซีนไม่ครบ ซึ่งแผนการควบคุมการแพร่ระบาด ทางผู้ว่าราชการจังหวัดใน 4 จังหวัดภาคใต้จะมีการเร่งฉีดวัคซีนมากขึ้น และมีแผนเพิ่มศักยภาพการฉีด ทั้งการระดมบุคลากรส่วนกลางลงไปช่วย และทางกองทัพอากาศส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์และบุคลากรไปช่วยการฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผน
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 244,426,712 ราย เสียชีวิต 4,963,743 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 46,312,782 ราย อันดับ 2 อินเดีย 34,189,484 ราย อันดับ 3 บราซิล 21,729,763 ราย อันดับ 4 สหราชอาณาจักร 8,773,674 ราย และอันดับ 5 รัสเซีย 8,241,643 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 24
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ต.ค. 64)
Tags: COVID-19, lifestyle, ศบค., อภิสมัย ศรีรังสรรค์, โควิด-19