นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงการให้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 แบบสลับ ระหว่างเชื้อตาย และ mRNA ว่า วัคซีนเชื้อตาย เป็นตัว prime ที่ดี ทำให้ร่างกายเราเหมือนกับรับรู้ว่าเคยติดเชื้อ เพราะได้รับแอนติเจนทั้งตัวไวรัส เมื่อมีการกระตุ้นด้วยไวรัสเวกเตอร์หรือ mRNA วัคซีนจะมีผลที่เรียกว่าปฏิกิริยาการกระตุ้น หรือตามประสาวัคซีนเรียกว่า booster effect
ดังที่ทราบกันว่า เมื่อให้วัคซีนเชื้อตายเริ่มต้น แล้วให้ไวรัสเวกเตอร์ที่ใช้อยู่ขณะนี้ กระตุ้นภูมิต้านทานได้ดี และก็เช่นเดียวกัน ถ้าให้วัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็ม แล้วกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยไวรัสเวกเตอร์ ก็จะได้ปฏิกิริยาภูมิต้านทานร่างกายตอบสนองที่สูงมาก
จากการศึกษาในสถานการณ์จริงที่มีการฉีดวัคซีนสลับ โดยให้เข็มแรกเป็นวัคซีนเชื้อตาย (sinovac) แล้วตามด้วยเข็มที่ 2 เป็น mRNA (pfizer) ปฏิกิริยาการตอบสนองก็เช่นเดียวกันกับการให้วัคซีนสลับเชื้อตายกับไวรัสเวกเตอร์ ซึ่งการศึกษาทางคลินิก กำลังดำเนินการต่อไปให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน
“ในอนาคต ถ้าวัคซีนเชื้อตายสามารถใช้ในเด็กในประเทศไทยได้ วิธีการให้สลับ โดยเริ่มต้นจากวัคซีนเชื้อตายเข็มแรก แล้วตามด้วย mRNA ก็จะเป็นวิธีการหนึ่งในการหลีกเลี่ยงการให้วัคซีน mRNA เข็มที่ 2 ในเด็ก เพื่อไม่ให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ”
สิ่งที่ปรากฏชัดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าปฏิกิริยาการตอบสนอง หรือที่เรียกว่า booster effect จะเกิดได้ดีระยะห่างระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 ถ้ายิ่งห่างก็จะมีปฏิกิริยากระตุ้นภูมิได้สูงมาก แต่การเว้นระยะห่างหลังฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียงเข็มเดียว จะเกิดการติดเชื้อเสียก่อน จากข้อมูลจะเห็นว่าระยะห่างระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 ถ้าห่างถึง 3 เดือน จะกระตุ้นภูมิต้านทานได้สูงมาก แต่ไม่ควรทำเพราะจะเกิดการติดเชื้อระหว่างรอเข็ม 2 ได้
การศึกษา booster effect เห็นได้ชัดจากการศึกษาตั้งแต่ไวรัสตับอักเสบ บี การให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี 3 เข็ม ถ้าห่างกันระยะ 1 เดือน ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจะไม่แตกต่างกับการให้ 2 เข็มที่ห่างกัน 1 เดือน แต่ถ้าให้เข็ม 3 ห่างออกไปที่ 6 เดือน (0, 1 และ 6) หรือ 12 เดือน ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังเข็ม 3 จะมีปฏิกิริยาการกระตุ้นที่สูง (booster effect)
ดังนั้น กฎเกณฑ์ในการให้วัคซีน ถ้าลืมหรือยังไม่พร้อมในการให้ และเลื่อนออกไป สามารถให้ต่อได้เลย โดยไม่ต้องมีการเริ่มต้นใหม่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ต.ค. 64)
Tags: lifestyle, mRNA, ยง ภู่วรวรรณ, วัคซีน mRNA, วัคซีนต้านโควิด-19, วัคซีนเชื้อตาย