รายชื่อดังกล่าวมีสำนักข่าวอยู่กว่า 1,300 แห่ง โดยการถอดไฉซินออกจากรายชื่อนี้ ทำให้แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตนำข่าวของไฉซินไปเผยแพร่ต่อไม่ได้ เท่ากับว่าเป็นการปิดช่องทางการมองเห็นข่าวของไฉซินในวงกว้าง
CAC ให้เหตุผลในการปรับเปลี่ยนรายชื่อสื่อครั้งนี้ว่า เพื่อ “ปรับให้สอดรับกับสถานการณ์ใหม่ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และความต้องการใหม่ ๆ” ในแวดวงข่าวสารออนไลน์ โดยสำนักข่าวที่ไม่อยู่ในรายชื่อดังกล่าวนั้น ไม่มีคุณสมบัติตรงตามเป้าหมายของรัฐบาลจีนในการ “รักษาความน่าเชื่อถือ”
ด้านสื่อตะวันตกรายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการขู่ให้ไฉซินเลือกที่จะตรวจสอบข่าวของตนเองให้สอดคล้องกับนโยบายของจีนก่อนที่จะเผยแพร่ข่าวออกไป โดยสำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า ไฉซินเป็นสำนักข่าวที่มีชื่อเสียงในการรายงานข่าวเชิงสอบสวนและมักรายงานข่าวเปิดโปงการทุจริตทางการเงินบ่อยครั้ง และยังกล้ารายงานข่าวเกี่ยวกับบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้วย
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญบางรายมองว่า การถอดไฉซินออกจากลิสต์สำนักข่าวที่เผยแพร่ข่าวซ้ำได้นั้นไม่น่าจะกระทบต่อการทำงานของไฉซินมากนัก เพราะรายได้หลัก ๆ ของไฉซินอยู่ที่ค่าบริการที่เรียกเก็บกับสมาชิกที่สมัครรับข่าวของไฉซินโดยตรง และการออกใบอนุญาตให้นำข่าวไปใช้ต่อได้
แต่ถึงอย่างนั้น ไฉซินก็น่าจะเลือกที่จะตรวจสอบเนื้อหาข่าวของตนเองก่อนเผยแพร่เพื่อไม่ให้ถูกเพ่งเล็งมากกว่านี้ เพราะผู้อ่านส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ต.ค. 64)
Tags: จีน, สำนักข่าว, ไฉซิน