ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศผ่อนคลายมาตรการ LTV (การกำหนดอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน Loan to Value) สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาเป็น 100% ถึงสิ้นปี 65 จากปัจจุบันที่เพดาน LTV สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ระดับ 70-90% ซึ่งการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ (รวมถึงการ Refinance และสินเชื่อ Top-Up)
อนึ่ง เกณฑ์ LTV เดิมสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ ธปท.มีการปรับปรุงไปในเดือน ม.ค.63 ได้มีการกำหนดเพดาน LTV สำหรับการกู้ซื้อที่อยู่อาศัย แบ่งเป็น กลุ่มแรกมูลค่าที่อยู่อาศัยไม่เกิน 10 ล้านบาท กำหนดให้สัญญาที่ 1 มีเพดาน LTV ที่ระดับ 100% เพื่อไม่ให้กระทบคนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยหลังแรก
ในส่วนของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสัญญาที่ 2 เดิมกำหนดเพดาน LTV ที่ 90% หากผ่อนสัญญาที่ 1 น้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 ปี และผู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 3 เป็นต้นไป กำหนดเพดาน LTV ที่ระดับ 70% เพื่อให้มีการออมก่อนกู้ โดยกำหนด LTV limit ที่ต่ำกว่าสำหรับผู้ที่ต้องการมีบ้าน 2 หลังตาม lifestyle ที่เปลี่ยนไป
สำหรับที่อยู่อาศัยราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป เดิม ธปท.กำหนดให้สัญญาที่ 1 หรือสัญญาที่ 2 มีเพดาน LTV ที่ 80% และสัญญาที่ 3 เป็นต้นไป กำหนดเพดาน LTV ที่ 70% เพื่อให้ออมมากขึ้นก่อนซื้อที่อยู่อาศัยราคาแพง
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ที่ยืดเยื้อ แม้มีแนวโน้มจะทยอยฟื้นตัวได้จากความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ทำให้เปิดประเทศได้เร็วกว่าคาด แต่การฟื้นตัวยังเปราะบางจากความไม่แน่นอนสูง และฐานะการเงินของบางภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบหนัก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะซบเซาจากอุปสงค์อ่อนแอ และภาคก่อสร้างที่ได้รับผลจากการระบาด
ธปท. ประเมินแล้วเห็นว่า เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพยุงการจ้างงาน จึงควรเร่งเพิ่มเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก โดยเฉพาะจากกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเข้มแข็ง หรือรองรับการก่อหนี้เพิ่มได้ ผ่านการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) เป็นการชั่วคราว โดยได้เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.-31 ธ.ค.65
สาระสำคัญของการผ่อนคลายมาตรการ LTV ในครั้งนี้ มีดังนี้
- กำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เป็น 100% (กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน) สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (รวมสินเชื่ออื่นนอกเหนือจากเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และมีที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลักประกันหรือสินเชื่อ Top-up แล้ว) ทั้งกรณี (1) มูลค่าหลักประกันต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป และ (2) กรณีมูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1 เป็นต้นไป
- การผ่อนคลายนี้ให้เป็นการชั่วคราว สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.64-31 ธ.ค.65
ธปท. คาดว่าการผ่อนคลายมาตรการ LTV ในครั้งนี้ จะช่วยดึงเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความสำคัญและมีธุรกิจเกี่ยวเนื่อง คิดเป็นกว่า 9.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และมีการจ้างงานรวมกว่า 2.8 ล้านคน
นางรุ่ง ยังมองว่า ภายใต้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง ประกอบกับในปัจจุบัน สถาบันการเงินมีมาตรฐานการให้สินเชื่อที่รัดกุม โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ในระยะยาวเป็นหลัก ธปท. จึงประเมินว่าความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่จะมาจากการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ในระยะหนึ่งปีข้างหน้ามีจำกัด
ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ มาตรฐานการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน และความสามารถของประชาชนในการกู้หรือซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนมาตรการได้อย่างเท่าทันและเหมาะสมต่อไป
ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า แม้จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่หากไม่มีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม คาดว่ากิจกรรมเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์จะไม่กลับไปเท่ากับก่อนวิกฤติจนถึงปี 68
ทั้งนี้ มีการประเมินในเบื้องต้นว่า ผลจากการผ่อนคลายมาตรการ LTV ในระยะ 1 ปีกว่าต่อจากนี้ จะทำให้เกิดเม็ดเงินจากการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ราว 5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 7% ของมูลค่าการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ราว 8 แสนล้านบาท
นายดอน กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการ LTV เป็นการชั่วคราวถึงสิ้นปี 65 สอดคล้องกับช่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ต้องการแรงสนับสนุน และเป็นช่วงที่ความเสี่ยงจากการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์น่าจะอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการในปี 65 ก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อที่ชัดเจน
พร้อมเชื่อว่า การผ่อนคลายมาตรการ LTV จะไม่ทำให้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแต่ละสถาบันการเงินจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้เป็นหลัก และมีความรัดกุมในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ อีกทั้งการผ่อนคลายมาตรการในครั้งนี้ เน้นให้กลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเข้มแข็ง หรือรองรับการก่อหนี้เพิ่มได้ ออกมาใช้จ่ายมากขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ยังมีกำลังผ่อนชำระหนี้ จึงไม่น่ากระทบกับความสามารถในการชำระหนี้โดยรวมมากนัก
ขณะเดียวกัน ก็เชื่อว่าจะไม่มีผลทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากในปัจจุบันหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงนี้ ส่วนใหญ่มาจากหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ไม่ใช่หนี้ที่อยู่อาศัย อีกทั้งธนาคารจะพิจารณาและให้ความสำคัญกับความสามารถในการชำระหนี้มากกว่าปริมาณหนี้ นอกจากนี้ การเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับสถาบันการเงินยังมีความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ จึงทำให้การผ่อนคลายมาตรการ LTV จึงมีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ
ทั้งนี้ ธปท.มองว่า การระบาดระลอกล่าสุดของโควิด 19 กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยดึงเงินออมส่วนเกิน (excess saving) และสร้างความต้องการซื้อที่อั้นไว้ให้กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (pent up demand) ผ่านการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก และต่างได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากการระบาดของโควิดระลอกล่าสุด
อย่างไรก็ดี การกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์จะต้องทำเป็นแพ็คเกจ ทั้งมาตรการด้านการคลัง และมาตรการด้านการเงินควบคู่กัน ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลังนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาขยายมาตรการภาษีอสังหาริมทรัพย์ ในการลดค่าโอน และจดจำนอง เหลือ 0.01% ออกไปอีก หลังจากที่อัตราดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือน ธ.ค.64
นายดอน กล่าวว่า ธปท.จะติดตามสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ สัญญาณการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ มาตรฐานการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน และความสามารถของประชาชนในการกู้ หรือซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนมาตรการได้อย่างเท่าทัน และเหมาะสมกับสถานการณ์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ต.ค. 64)
Tags: LTV, กระตุ้นเศรษฐกิจ, ดอน นาครทรรพ, ธปท., รุ่ง มัลลิกะมาส, สินเชื่อที่อยู่อาศัย, อสังหาริมทรัพย์