นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เดือน ส.ค.64 ว่า มีมูลค่ารวม 7,341 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 18.29% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ก.ค.64 ที่มีมูลค่า 6,206.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 64 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 53,804 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 79.13% แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 51,277 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 2,526 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ โดยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 8 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 36.46%
ทั้งนี้ การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA เดือน ส.ค.64 มีมูลค่า 7,030.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 19.07% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ก.ค.64 ที่มีมูลค่า 5,904.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 64 มีมูลค่า 51,277 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 36.50% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 80.09%
ตลาดส่งออกที่มีมูลค่าใช้สิทธิ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. จีน (17,771 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2. อาเซียน (17,384 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3. ออสเตรเลีย (5,609 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 4) ญี่ปุ่น (4,662 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 5) อินเดีย (3,029 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. อาเซียน-จีน (97.33%) 2. ไทย-เปรู (93.24%) 3. ไทย-ชิลี (92.57%) 4. ไทย-ญี่ปุ่น (79.75%) และ 5. อาเซียน-เกาหลี (69.05%)
ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP ทั้ง 4 ระบบ คือ สหรัฐอเมริกา, สวิตเซอร์แลนด์, รัสเซียและเครือรัฐเอกราช, และนอร์เวย์ เดือน ส.ค.64 มีมูลค่า 310 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.97% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.64 ที่มีมูลค่า 301.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการใช้สิทธิฯ ภายใต้ GSP ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 64 มีมูลค่า 2,526 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 35.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 63.69%
ตลาดส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ GSP มากสุดคือ สหรัฐอเมริกา 2,255 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 43.94% และสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 67.10% อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ 169 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -11.33% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 36.74% อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช 90.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -2.86% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 71.44% และนอร์เวย์ 11.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -6.91% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 64.33%
สำหรับสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ข้าวโพดหวาน อาหารปรุงแต่ง เนื้อสัตว์แปรรูป ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารหรือเครื่องดื่ม ปลาทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง เนื้อปลาแบบฟิลเล สด-แช่เย็น-แช่แข็ง ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส มะพร้าวปรุงแต่ง น้ำหรือเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์
นายกีรติ กล่าวว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 64 ไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเพื่อส่งออกภายใต้กรอบ FTA เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากความต้องการสินค้าที่มากขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม และการคลายมาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ อาทิ อินเดีย
นอกจากนี้ รมว.พาณิชย์ ได้ผลักดันมาตรการสนับสนุนการส่งออก และการจัดสัมมนาเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าอย่างต่อเนื่องของกรมฯ ทำให้การใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA เพิ่มขึ้น 36.50% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ เพิ่มสูงขึ้น (80.09%) สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง ประกอบด้วย อาทิ รถยนต์เพื่อขนส่งของ/รถยนต์เพื่อขนส่งบุคคล (อาเซียน, อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, ไทย-ชิลี, อาเซียน-จีน) เครื่องปรับอากาศ (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, ไทย-อินเดีย) ตู้เย็น (ไทย-อินเดีย) เนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง (ไทย-ญี่ปุ่น) กุ้งปรุงแต่ง (อาเซียน-ญี่ปุ่น) ปลาซาร์ดีนปรุงแต่ง (อาเซียน-ญี่ปุ่น) ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) ผลไม้ เช่น ฝรั่ง มะม่วง มังคุด (อาเซียน-จีน) ยางธรรมชาติ (อาเซียน-เกาหลี) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (กระป๋อง) (ไทย-ชิลี) ด้ายทำด้วยเส้นใยสังเคราะห์ เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ต.ค. 64)
Tags: FTA, GSP, กรมการค้าต่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์, กีรติ รัชโน, ความตกลงการค้าเสรี, ภาษีศุลกากร, ส่งออก, เศรษฐกิจไทย