ราคา HENG ปิดที่ 2.86 บาท สูงขึ้น 46.67% หรือ 0.91 บาท จากราคา IPO 1.95 บาท มูคค่าซื้อขาย 7,977.77 ล้านบาท จากราคาเปิดเทรด 3.20 บาท ปรับขึ้นสูงสุด 3.38 บาท และต่ำสุด 2.78 บาท
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บมจ.เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล (HENG) เป็นผู้เล่นรายใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโต จากทั้งประสบการณ์ของคณะผู้บริหาร และ Synergy ของ 4 กลุ่มพันธมิตรหลัก ทำให้หลังจากได้เงินทุนจากการ IPO จะทำให้บริษัทมีการเติบโตที่เร่งตัวขึ้นมาก
ประเมินมูลค่าพื้นฐานปี 65 ของ HENG ที่ 2.60 บาท โดยอิงวิธี Gordon Growth Model (Ke=9%, Sustainable ROE=12.5%, LTG=4%) ซึ่งคิดเป็น PBV เพียง 1.7x ต่ำกว่า PBV ปีย้อนหลังของคู่แข่ง สะท้อนว่า HENG มี Discount จากบริษัทอื่นในตลาดมากพอสมควร
HENG เป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ ที่เน้นสินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง และสินเชื่อจำนำทะเบียน โดยมีจุดเด่นจาก Synergy ระหว่าง 4 พันธมิตรหลัก และด้วย D/E ที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีช่องว่างเติบโตได้อีกมาก ปี 64 คาดกำไรสุทธิโต 6.3%YoY และโตต่อ 61.2%YoY ในปี 65 หนุนด้วยพอร์ตสินเชื่อที่โตดีจากแผนเปิดสาขาใหม่อีกเท่าตัว และ NIM
ขณะที่ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แม้ตลาดประเมินกำไร HENG ปี 64 ทรงตัว YoY จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้การขยายสินเชื่อไม่เป็นไปตามเป้า แต่การขยายผลิตภัณฑ์ใหม่โดยเฉพาะจำนำทะเบียนที่เป็นตลาดใหญ่ทำให้พอร์ตสินเชื่อในปี 65 สามารถเติบโต +20%YoY จากการขยาย +100 สาขา พร้อมกับผลตอบแทนที่สูงขึ้นจาก Digital transformation หนุนอัตรากำไรดีขึ้น
กรอบราคา 2.00-2.30 บ.เป็นช่วงเหมาะสมสำหรับการเก็งกำไรบน P/E’65 18-21x ซึ่งสอดคล้องสำหรับการเติบโตของกำไรเท่ากับ +42%YoY สูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่เติบโต +10-15%YoY ดังนั้น HENG จึงสมควรที่จะซื้อขายสูงกว่ากลุ่ม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ต.ค. 64)
Tags: HENG, IPO, หุ้นไทย, เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล