นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายกับผู้หลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางของระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ระหว่าง กรมทางหลวง โดย นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กรมการขนส่งทางบก โดย นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดย นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ.เพื่อบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายและเชื่อมโยงข้อมูลผู้ใช้บริการระบบ M-Flow
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางบนท้องถนน โดยเฉพาะบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางพิเศษ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย จึงได้มอบหมายให้กรมทางหลวง และ กทพ.ร่วมกันศึกษา พัฒนาระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี AI มาใช้จัดเก็บค่าผ่านทาง ด้วยการใช้ระบบ Video Tolling ตรวจจับป้ายทะเบียน ทำให้รถสามารถขับผ่านด่านเก็บเงินได้ โดยไม่ต้องชะลอ ช่วยระบายรถบริเวณหน้าด่านได้เร็วกว่าเดิมถึง 5 เท่าหรือประมาณ 2,000 คัน/ช่อง/ชม. เป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านและยังช่วยให้ผู้ใช้ทางสามารถใช้ความเร็วต่อเนื่อง 120 กม./ชม. ได้
โดยได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมบูรณาการการทำงานร่วมกันให้เป็นรูปธรรมและเป็นมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System) ทำให้สามารถใช้กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางพิเศษได้ทุกเส้นทาง
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง กรมทางหลวง กรมการขนส่งทางบก การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายและเชื่อมโยงข้อมูลผู้ใช้บริการระบบ M-Flow โดยมีขอบเขตการดำเนินงานร่วมกัน ได้แก่ การพัฒนาและปรับปรุงระบบชำระภาษีรถยนต์ประจำปีของกรมการขนส่งทางบก โดยการจัดเตรียมช่องทางในการตรวจสอบยอดค้างชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง ค่าเสียหาย และค่าปรับของระบบ M-Flow เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน และปรับปรุงโปรแกรมชำระภาษีของกรมการขนส่งทางบกเพื่อให้สามารถชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง ค่าเสียหาย และค่าปรับของระบบ M-Flow ที่ค้างชำระได้ การรับชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง ค่าเสียหาย และค่าปรับของระบบ M-Flow ที่กรมการขนส่งทางบกในขั้นตอนการต่อภาษีรถประจำปี
ทั้งนี้ แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ. 2497 เพื่อให้สามารถรับชำระค่าธรรมเนียม ค่าเสียหาย และค่าปรับของระบบ M-Flow ที่ค้างชำระ
โดยกรมการขนส่งทางบกจะเป็นผู้เก็บรักษาและนำส่งเงินค่าธรรมเนียมผ่านทาง ค่าเสียหาย และค่าปรับของระบบ M-Flow ให้กับกรมทางหลวงและกทพ. การบังคับใช้กฏหมายกับผู้ที่หลีกเลี่ยงไปชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางของระบบ M-Flow โดยหากมีผู้หลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง หรือผู้ที่ไม่เป็นสมาชิกแล้วฝ่าฝืนขับรถเข้าไปในช่องทาง M-Flow กรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จะจัดส่งข้อมูลและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำผิดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดในกฎหมายต่อไป
ส่วนรูปแบบการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จะเป็นการผ่านก่อนจ่ายทีหลัง โดยเจ้าของรถจะต้องลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกผ่านทาง www.mflowthai.com หรือ Mobile Application : Mflow หรือที่จุดบริการ เพื่อชำระค่าผ่านทางผ่านบัตรเครดิต/บัตรเดบิต การหักบัญชีธนาคาร และการตัดชำระผ่านระบบ Pre-Paid ที่สามารถเลือกชำระเป็นรายครั้งหรือตามรอบบิล ให้กับกรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
โดยในช่วงแรกกรมทางหลวงได้ออกโปรโมชั่นใช้ฟรี 2 ครั้ง จำนวน 1 แสนสิทธิ์ เพื่อเป็นการจูงใจผู้ใช้รถใช้ถนนให้มาทดลองใช้บริการ โดยจากจำนวนผู้ใช้บริการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย 9 ในปัจจุบันที่มีผู้ใช้งานอยู่ประมาณ 300,000 เที่ยว/วัน กรมทางหลวงจึงตั้งเป้าว่าจะมีผู้สมัครเข้าทดลองใช้บริการในช่วงแรกประมาณ 100,000 ราย
สำหรับแผนการดำเนินงานติดตั้งระบบ M-Flow ในระยะแรก จะเริ่มดำเนินการนำร่องบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 บริเวณด่านทับช้าง 1 ด่านทับช้าง 2 ด่านธัญบุรี 1 และด่านธัญบุรี 2 และทางพิเศษฉลองรัช ที่บริเวณด่านจตุโชติ ด่านสุขาภิบาล 5-1 และด่านสุขาภิบาล 5-2 โดยบริเวณด่านฯ จะกำหนดให้มีช่องทางวิ่งเฉพาะสำหรับระบบ M-Flow แยกออกจากช่องเก็บเงินสดและช่องเก็บเงินด้วยบัตรอัตโนมัติ (M-Pass/Easy Pass) ซึ่งจะยังคงเปิดให้ใช้งานได้เพียงบางส่วนควบคู่ไปกับช่องทางระบบ M-Flow เพื่อสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจกับประชาชนผู้ใช้ทาง
โดยกรมทางหลวงจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิก เพื่อร่วมทดลองใช้บริการและร่วมทดสอบการทำงานของระบบ M-Flow บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ซึ่งจะเปิดในวันที่ 29 ตุลาคม 2564 นี้ ส่วนทางพิเศษฉลองรัชบริเวณด่านจตุโชติ ด่านสุขาภิบาล 5-1 และด่านสุขาภิบาล 5-2 ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จะเปิดทดลองใช้บริการและร่วมทดสอบระบบเสมือนจริง (Soft Opening) ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 โดยหลังจากเปิดให้ทดลองใช้เสมือนจริงบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 แล้ว กรมทางหลวงจะมีการประเมินผลทั้งความเข้าใจในระบบ ความเสถียรของระบบ และพฤติกรรมของผู้ใช้ทาง เพื่อนำมาปรับปรุงก่อนเปิดให้บริการจริงต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ต.ค. 64)
Tags: กรมการขนส่งทางบก, กรมทางหลวง, กระทรวงคมนาคม, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, ค่าผ่านทางพิเศษ, มอเตอร์เวย์, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ