นายพรชัย ฐีระเวช โฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นข้อเรียกร้องแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพงว่า ปัญหาราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันอยู่ที่ 83.53 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากโควิด-19 ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น
ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าว ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศวันที่ 18 ตุลาคม 2564 อยู่ที่ประมาณ 28 บาทต่อลิตร ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 16% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี (มกราคม 2564) อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลของไทยกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกันแล้วพบว่า ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลของไทยอยู่ระดับใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ (สิงคโปร์ ลิตรละ 53 บาท, สปป. ลาว ลิตรละ 31.50 บาท, กัมพูชา ลิตรละ 30.24 บาท, ฟิลิปปินส์ ลิตรละ 28.69 บาท, เมียนมา ลิตรละ 26.95 บาท และมาเลเซีย (ผู้ส่งออกน้ำมัน) ลิตรละ 17.42 บาท)
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประเด็นการปรับลดภาษีสรรพสามิตเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น อาจยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะใช้กลไกดังกล่าวในขณะนี้ เนื่องจากการจัดเก็บของภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาระดับราคาพลังงาน แต่มีวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
“ในอดีตมีการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อบรรเทาภาระของประชาชน เนื่องจากในขณะนั้น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ในระดับที่สูง ดังนั้น หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลอาจพิจารณามาตรการภาษีสรรพสามิตเพื่อบรรเทาภาระของประชาชนต่อไป” โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุ
อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น รัฐบาลจึงได้ดำเนินนโยบายเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นกลไกหลักในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง และมีสภาพคล่องพร้อมดำเนินการ โดยได้มีการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 1.99 – 4.16 บาทต่อลิตร รวมทั้งได้มีการบริหารจัดการให้มีการปรับลดค่าการตลาดลงด้วย กล่าวคือ การใช้กลไกดังกล่าวมีความพร้อมและเพียงพอต่อการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลภายใต้บริบทปัจจุบันได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ต.ค. 64)
Tags: กระทรวงการคลัง, พรชัย ฐีระเวช, ภาษีสรรพสามิต, ราคาน้ำมัน