ทริสฯ ให้เครดิตหุ้นกู้ใหม่ 4.5 พันลบ.ของ STA ที่ A- ปรับแนวโน้มเป็น Positive

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ที่ระดับ “A-” และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Positive” หรือ “บวก” จาก “Stable” หรือ “คงที่”

ขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 4.5 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A-” ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่นี้ไปใช้สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทและใช้เป็นเงินลงทุนตามแผนงานของบริษัท

การเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตสะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติและความต่อเนื่องของอุปสงค์ถุงมือยางจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนของสัดส่วนผลิตภัณฑ์ของบริษัทจากสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าที่เกี่ยวข้องมาเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค และการปรับปรุงประสิทธิภาพและการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ดีขึ้น

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจยางธรรมชาติ ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันจากการเป็นผู้ประกอบการยางธรรมชาติตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผลิตภัณฑ์ขั้นต้นของปลายน้ำ (Vertical Integration) และประวัติผลงานที่เข้มแข็งของคณะผู้บริหารของบริษัท ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวก็ถูกลดทอนลงบางส่วนจากลักษณะความเป็นวงจรขึ้นลงและความผันผวนของราคายางธรรมชาติ รวมทั้งความท้าทายต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอน

 

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

– ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง รายได้จากการดำเนินงานรวมจากงบการเงินรวมของบริษัทยังคงปรับตัวดีขึ้นในช่วงปี 2563 จนถึงครึ่งปีแรกของปี 2564 อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวเป็นลำดับของอุตสาหกรรมรถยนต์รวมทั้งความต้องการที่แข็งแกร่งในธุรกิจถุงมือยางที่มีอย่างต่อเนื่อง

รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ 7.57 หมื่นล้านบาทในปี 2563 บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจถุงมือยางเพิ่มขึ้นเป็น 41% ของรายได้รวม จากเดิมที่ 20% ในปี 2562 อัตรากำไรขั้นต้น (รวมกำไรหรือขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ราคายาง) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 29% ในปี 2563 จากระดับ 8% ในปี 2562 ซึ่งสาเหตุมาจากการมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูงที่เพิ่มมากขึ้นและต้นทุนวัตถุดิบที่สามารถจัดการได้ของบริษัท

ในขณะเดียวกัน กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับ 2.05 หมื่นล้านบาทในปี 2563 เมื่อเทียบกับระดับ 3.5 พันล้านบาทในปี 2562 ส่งผลให้บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิที่จำนวน 9.5 พันล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับผลขาดทุนสุทธิจำนวน 149 ล้านบาทในปี 2562

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 รายได้จากการดำเนินงานจากงบการเงินรวมและกำไรสุทธิของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง โดยบริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานเติบโตที่ระดับ 87% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากธุรกิจถุงมือยางเพิ่มขึ้นเป็น 46% จากเดิมที่ระดับ 27% ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกันโดยอยู่ที่ระดับ 2.23 หมื่นล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับระดับ 4.1 พันล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ดังนั้นบริษัทจึงยังคงรายงานผลกำไรสุทธิที่จำนวน 1.10 หมื่นล้านบาท โดยเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิจำนวน 1.9 พันล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง ท่ามกลางความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ กลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ให้ผลกำไรสูงต่าง ๆ เช่น ถุงมือยางหลากหลายสีสัน และถุงมือยางที่ป้องกันการแพ้โปรตีน เป็นต้น ทริสเรทติ้งคาดหวังว่า รายได้ของบริษัทที่มาจากธุรกิจถุงมือยางจะเพิ่มขึ้น ตลอดจนกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการลดต้นทุน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นั้น น่าจะช่วยให้ผลการดำเนินงานของบริษัทมีความมั่นคงได้ในระยะ 2-3 ข้างหน้าได้

– อุตสาหกรรมยางธรรมชาติคาดว่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น จากรายงานขององค์กรศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ (International Rubber Study Group — IRSG) พบว่าในปี 2563 อุปทานและอุปสงค์ของยางธรรมชาติทั่วโลกปรับตัวลดลงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งส่งผลทำให้ราคายางธรรมชาติทั่วโลกปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ราคายางธรรมชาติโดยเฉลี่ยในผลิตภัณฑ์ทุกประเภทในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 29%-39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในธุรกิจยานยนต์

ทริสเรทติ้งคาดว่าอุตสาหกรรมยางธรรมชาติจะยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2564 โดยคาดว่าการบริโภคยางธรรมชาตินั้นจะเติบโตที่ระดับ 7.1% หรืออยู่ที่ระดับ 13.6 ล้านตันในปี 2564 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวหลังการเปิดประเทศอีกครั้งและคลังยางธรรมชาติในตลาดหลัก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนลดลง ทั้งนี้ การบริโภคน่าจะเติบโตได้อีกที่ระดับ 4.2% ในปี 2565 และ 4.3% ในปี 2566 นอกจากนี้ ผลผลิตยางธรรมชาติยังคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 6.5% เป็น 13.9 ล้านตันในปี 2564 และที่ระดับ 3.5% ในปี 2565 และ 3.6% ในปี 2666 โดยที่การขาดดุลยางธรรมชาติมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ในปี 2567 เป็นต้นไป

– ความต้องการที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในธุรกิจถุงมือยาง ทริสเรทติ้งมองว่าแนวโน้มธุรกิจถุงมือยางจะยังคงแข็งแกร่งต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ จากรายงานของสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางของประเทศมาเลเซีย (Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association — MARGMA) ประมาณการว่าความต้องการถุงมือยางทั่วโลกในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นเป็น 420 พันล้านชิ้นต่อปี จาก 268 พันล้านชิ้นต่อปีในปี 2561 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีที่ระดับ 15% ความต้องการถุงมือยางทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งทวีปยุโรป และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก คาดว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะยังคงส่งผลให้ความต้องการถุงมือยางธรรมชาติทั่วโลกยังคงแข็งแกร่งไปจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565

จากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของถุงมือยางที่ใช้ทั้งในทางการแพทย์และไม่ใช่ทางการแพทย์ บริษัทวางแผนที่จะใช้กำลังการผลิตอยู่เหนือระดับ 90% โดยบริษัทจะมีกำลังการผลิตถุงมือยาง 3.6 หมื่นล้านชิ้นในปี 2564 และ 5 หมื่นล้านชิ้นในปี 2565 และ 8 หมื่นล้านชิ้นในปี 2567

– โครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ระดับ 10.5% ณ เดือนธันวาคม 2563 และลดลงต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 ที่ 4% อันเนื่องมาจากบริษัทมีกำไรสะสมที่สูงขึ้นและยังคงมีรายได้สุทธิคงเหลือจากการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของบริษัทศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563

ในอนาคตคาดว่าค่าใช้จ่ายดำเนินงานและเงินลงทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 6.9 พันล้านบาท-1.42 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2564-2566 ซึ่งค่าใช้จ่ายดำเนินงานและเงินลงทุนส่วนใหญ่ของบริษัทจะนำไปใช้ในการขยายกำลังการผลิตถุงมือยางและโรงงานยางแท่ง ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับต่ำในช่วงระยะ 3 ปีข้างหน้า ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 17%-21% ในช่วงปี 2564-2566

– สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่งในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 1.5-2.7 พันล้านบาท ต่อปีในระหว่างปี 2564-2566 ในการนี้ ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานพื้นฐานสำหรับกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1-3.4 หมื่นล้านบาทต่อปี โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 2.75 หมื่นล้านบาทและวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกกว่า 2.52 หมื่นล้านบาท

ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งอย่างมากที่ระดับ 174% ในปี 2564 และ 56%-88% ต่อปีในช่วงปี 2565-2566 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายก็จะปรับตัวดีขึ้นเป็น 40 เท่าในปี 2564 และ 11-15 เท่าต่อปีในระหว่างปี 2565-2566

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

– รายได้รวมของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 51% ในปี 2564 และลดลงที่ระดับ 13% ในปี 2565 และคงที่ที่ระดับ 0% ในปี 2566

– อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 32% ในปี 2564 และจะปรับตัวลดลงเหลือ 12%-17% ต่อปีในระหว่างปี 2565-2566

– ค่าใช้จ่ายลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1.42 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และ 6.9 พันล้านบาท ถึง 1.15 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2566

แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนความคาดหวังเรื่องการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติและความยั่งยืนของอุปสงค์ถุงมือยาง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผลิตภัณฑ์ของบริษัทจากสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าเกี่ยวข้องมาเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค และการปรับปรุงประสิทธิภาพและการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ดีขึ้น

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นหากโครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามสมมติฐานของทริสเรทติ้ง และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับประมาณ 1.0-1.5 หมื่นล้านบาทเป็นระยะเวลานาน

ขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีสาระสำคัญเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องจนส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่สูงเกินกว่าระดับ 4 เท่า นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งจะทำให้งบการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องก็อาจส่งผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตด้วย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ต.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top