อดีตลูกหม้อ สศค.แนะช่องทางฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย

นายสมชัย สัจจพงษ์ ประธานกรรมการ บมจ.ไทยประกันภัย (TIC) กล่าวในการเสวนาวิชาการ เรื่อง “เพิ่มมุมคิด เติมมุมมอง ก้าวข้ามวิกฤต COVID-19” ในงานครบรอบวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปีที่ 60 ว่า วิกฤตโควิด-19 สร้างแผลเป็นให้กับระบบเศรษฐกิจ และชี้ให้เห็นจุดอ่อนที่เป็นปัญหาของประเทศ เช่น ความเหลื่อมล้ำ รายได้ เป็นต้น และเป็นความท้าทายอย่างมากที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจกลับคืนสู่ภาวะปกติอย่างดีขึ้น

เช่น จะทำอย่างไรให้คนที่ตกงานกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานตามเดิม การพัฒนาตามความต้องการของท้องถิ่นไม่ใช่ทำตามนโยบายจากบนลงล่าง, จะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างไร เช่น การใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ การกำหนดนโยบายการเงินนอกกรอบ การใช้นโยบายการคลัง, ทำอย่างไรจะให้หนี้ครัวเรือนลดลง ไม่ใช่แค่การปรับโครงสร้างหนี้ แต่ควรหาวิธีที่จะช่วยให้มีรายได้มาชำระหนี้, ทำอย่างไรจะช่วยให้กลุ่มเปราะบางหลุดพ้นความยากจน ไม่ใช่มียอดผู้ขอรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“ไม่ควรเอาเงินไปแจกเฉยๆ ควรกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการพัฒนาตามมา การเอาเงินไปแจก แค่พยุงเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำเท่านั้น กลไกที่มีอยู่เดิม เช่น กองทุนหมู่บ้านฯ ไม่ให้นำออกมาใช้แก้ปัญหาเรื่องนี้ การขยายเพดานหนี้สาธารณะก็ควรให้เกิดประสิทธิภาพว่าจะหารายได้มาจากไหน”

นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวว่า อยากฝากให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยึดถือหลักการเพื่อเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจ และเดินหน้าปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศโดยสร้างสมดุล พึ่งพาตัวเองมากขึ้น ลดพึ่งพาต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นได้จากผลกระทบเรื่องการท่องเที่ยว การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ แม้จะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ต้องทำให้ได้

ด้านนายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการ บมจ.สมิติเวช (SVH) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ ถือว่าผ่านจุดวิกฤตมาแล้วก้าวเข้าสู่ระยะฟื้นตัว ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 แม้จะเป็นปัญหาระยะสั้น แต่มีความหนักหน่วงรุนแรง โดยภาคบริการได้รับผลกระทบหนักสุด รองลงมา คือ ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร แต่ด้วยฐานะการคลังที่ดี ช่วยให้ไม่เกิดผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปัญหาที่ต้องระวังเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากกรณีที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

“แม้จะเผชิญวิกฤตโควิด-19 มาเกือบ 2 ปี แต่บรรดาบริษัทจัดอันดับเครดิตยังคงอันดับไว้ตามเดิม แม้จะเป็นวิกฤตที่หนักและรุนแรงแต่ไม่ถึงขั้นเยียวยาไม่ได้”

นายสมชัย กล่าว

วิกฤตโควิด-19 สะท้อนจุดแข็งของประเทศไทย 3 ประการ คือ 1.การมีระบบสาธารณสุขที่ดีเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับหนึ่งในอาเซียน ซึ่งมาจากการส่งเสริมให้ผู้ที่มีความรู้เข้ามาเป็นบุคลากรทางการแพทย์ และมีศักยภาพที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) 2.การสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ การรักษาวินัยการเงินการคลัง ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะ และ 3.ความร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาจากทุกภาคส่วน

การประกาศเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.64 ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว โดยผ่านการตัดสินใจที่รอบคอบและดำเนินการตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม รูปแบบการดำเนินชีวิตตามวิถีใหม่จะไม่เหมือนเดิม เนื่องจากหลังวิกฤตโควิด-19 จะมีพลังขับเคลื่อนที่ซ่อนอยู่อีก 2 อย่าง คือ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล และพลังงานรูปแบบใหม่

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของนักลงทุนเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น มีเวลาเข้ามาฝึกอบรมมากขึ้น, เด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น, นักลงทุนไม่ชอบความไม่ชัดเจน เพราะทำให้เกิดความตื่นตระหนก, มีการศึกษาข้อมูลจริง เป็นต้น

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้งาน เพื่อเชื่อมโยงการลงทุนไปได้ทั่วโลก และแสวงหาผู้ประกอบการในสาขาใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของหลักทรัพย์

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) กล่าวว่า การฟื้นตัวของธุรกิจการบินให้กลับสู่ภาวะปกติจะต้องใช้เวลาราว 2 ปี และจะเกิดรายได้เมื่อมีอัตราการใช้สนามบิน 50% ทำให้การประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นทำได้ยาก เพราะยังไม่รู้ว่าหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลายแล้ว จะมีสายการบินกลับมาให้บริการได้ตามเดิมกี่ราย ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวจะเป็นไปในลักษณะของเครื่องหมายสแควร์รูท นั่นหมายความว่า ต้องรอลุ้นว่าการฟื้นตัวสู่ระดับที่เป็นระนาบยาวโผล่พ้นจากผิวน้ำหรือไม่ หากยังจมอยู่ใต้น้ำก็จะส่งผลต่อธุรกิจการบินทั้งระบบ โดยคาดว่าหลังเปิดน่านฟ้าแล้ว สายการบินส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง จากก่อนหน้านี้ที่ไม่รับรู้รายจ่าย ช่วงเปิดน่านฟ้าแล้วคือของจริง

“เราเคยรับนักท่องเที่ยวสูงสุดวันละ 4 แสนคน จนเหลือวันละ 46 คน วันนี้กลับมาอยู่ที่วันละ 2-3 หมื่นคน เหมือนเรานอนอยู่บนเตียงมานาน พอจะให้ลุกขึ้นวิ่งเลยคงไม่ได้ ต้องใช้เวลาปรับตัว”

นายนิตินัย กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ต.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , , ,
Back to Top