นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในปี 65 กระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และบริการด้านคมนาคมในเชิงรุก โดยมุ่งเน้นการบูรณาการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมระหว่างรูปแบบการขนส่ง และการกำกับดูแลการพัฒนาระบบคมนาคมให้มีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา และราคาสมเหตุสมผล ทั้งนี้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และเป็นการสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จะสานต่อนโยบายเดิมจากปี 64 และขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มเติมปี 65 รวมทั้งสิ้น 76 นโยบาย โดยมีงบประมาณโครงการปี 58-65 รวมอยู่ที่ 1.44 ล้านล้านบาท ได้แก่
โครงสร้างพื้นฐานทางถนน รวม 14 นโยบาย วงเงินลงทุน 260,000 ล้านบาท โดยมีการสานต่อนโยบายเดิมจากปี 64 ทั้งหมด 9 นโยบาย ได้แก่
1. กำหนดความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยในปี 64 กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทประกาศใช้แล้วเป็นระยะทางกว่า 178 กิโลเมตร และปี 65 จะเพิ่มเติมอีก 9 เส้นทาง ระยะทาง 138 กิโลเมตร
2. พัฒนาระบบผ่านทางด่วน ทางพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow โดยในปี 64 กรมทางหลวงได้ทดสอบระบบบนมอเตอร์เวย์สาย 9 จำนวน 4 ด่าน และปี 65 เปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบ จำนวน 7 ด่าน (กรมทางหลวง 4 ด่าน และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 3 ด่าน)
3. เร่งรัดก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) โดยปี 64 แล้วเสร็จ 23 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 17 สัญญา มีความก้าวหน้า 94% และลงนามในสัญญาให้เอกชนร่วมลงทุนสำหรับงานการเดินระบบและซ่อมบำรุง (O&M) แล้ว ซึ่งในปี 65 เร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และจะเปิดให้บริการในปี 66
4. เร่งรัดก่อสร้าง มอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) โดยในปี 64 แล้วเสร็จ 4 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 21 สัญญา มีความก้าวหน้า 63% ซึ่งลงนามในสัญญาให้เอกชนร่วมลงทุนสำหรับงาน O&M แล้ว ทั้งนี้ปี 65 จะเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และจะเปิดให้บริการในปี 66
5. จัดทำแผนแม่บท MR-MAP หรือการนำรถไฟทางคู่กับระบบมอเตอร์เวย์มารวมกัน โดยในปี 64 มีการศึกษาแผนแม่บทโครงข่าย MR-MAP เสร็จ โดยคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เห็นชอบแล้ว และได้เริ่มการศึกษาออกแบบเบื้องต้นโครงการนำร่อง 4 โครงการ ได้แก่ MR2 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี ระยะทาง 440 กม., MR5 ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 108 กิโลเมตร ตามแนวการเชื่อมต่อโครงการ สะพานแผ่นดิน (Landbridge), MR8 หนองคาย (ด่านหนองคาย)-แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา-แหลมฉบัง ระยะทาง 288 กิโลเมตร และ MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 ระยะทางรวม 319 กิโลเมตร และในปี 65 ศึกษาความเหมาะสมเส้นทางที่เหลืออยู่ให้ครบทั้ง 10 เส้นทาง
6. พัฒนาทางพิเศษ จ.ภูเก็ต โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้พัฒนาโครงการทางพิเศษเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต โดยช่วงกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. วงเงินลงทุน 14,470 ล้านบาท โดยคณะกรรมการการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ (PPP) ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และจะเริ่มเวนคืนพร้อมดำเนินการคัดเลือกเอกชนในปี 65 และสามารถก่อสร้างได้ในปี 66 เพื่อเปิดให้บริการในปี 70 ส่วนช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 30 กม. วงเงินลงทุน 30,456 ล้านบาท จะเริ่มศึกษาความเหมาะสมโครงการในปี 65 ออกแบบรายละเอียดในปี 67 และเริ่มก่อสร้างในปี 68 เพื่อเปิดให้บริการโครงข่ายทางพิเศษที่ครบสมบูรณ์ในปี 71
7. โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Landbridge ชุมพร-ระนอง) โดยในปี 64 ได้มีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และในปี 65 ออกแบบแนวคิดของท่าเรือ รวมทั้งออกแบบแนวเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือทั้งสองฝั่ง ซึ่งจะเป็นลักษณะตาม MR-Map ซึ่งประกอบด้วยทางหลวงพิเศษ รถไฟทางคู่ และท่อส่งน้ำมัน โดยผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 66 และจะสามารถเริ่มการพัฒนาโครงการได้ในปี 68 พร้อมเปิดโครงการได้ในช่วงปี 73
8. การแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางด่วน โดยในปี 64 ศึกษาจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ และปี 65 เสนอผลการศึกษาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจะทำการศึกษารายโครงการในต้นปี 66 และเริ่มก่อสร้างโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
9. การวางระบบติดตามโครงการขนาดใหญ่ โดยปี 64 เริ่มโครงการนำร่องจำนวน 5 โครงการ และปี 65 ติดตามโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก 22 โครงการ
10. ต่อเติมโครงข่ายทางพิเศษเชื่อมโยงภูมิภาค รวมระยะทาง 203.68 กม. วงเงินลงทุน 261,854 ล้านบาท โดยมีโครงการที่จะดำเนินการในปี 65 เช่น มอเตอร์เวย์ M82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. วงเงิน 32,220 ล้านบาท, มอเตอร์เวย์ M9 วงแหวนตะวันตก (ยกระดับ) ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทองระยะทาง 36 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท, มอเตอร์เวย์ M7 ต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 1.92 กม. วงเงิน 4,508 ล้านบาท, มอเตอร์เวย์ M5 ต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวย์) ระยะทาง 22 กม. วงเงิน 27,800 ล้านบาท และทางพิเศษ ขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 และ N2 ระยะทาง 18.4 กม. วงเงิน 37,870 ล้านบาท เป็นต้น
11. เติมเต็ม Missing links เชื่อมโยงต่างประเทศ เช่น ถนนเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน-สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 จ.นครพนม ระยะทาง 23.102 กม. ค่าก่อสร้าง 1,600 ล้านบาท, สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) จ.อุบลราชธานี ระยะทาง 26 กม. วงเงินรวม 4,765 ล้านบาท และทางหลวงหมายเลข 348 และ 3486 ช่วงเขาช่องตะโก จ.สระแก้ว ระยะทาง 49 กม. ที่อยู่ระหว่างการออกแบบ เป็นต้น
12. ติดตามปัญหาอุทกภัย แก้ไขอย่างยั่งยืน ฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย โดยในปี 65 จะมีการพัฒนาระบบแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยง
13. แต่งแต้ม สีสันทางหลวง ส่งเสริมการท่องเที่ยวในปี 65 โดยเพิ่มศักยภาพถนน 20 สายทาง จัดทำโครงการ 1 จังหวัด 1 ถนนสวยงาม และประดับไฟบน สะพานภูมิพล และสะพานเจษฎาบดินทรานุสรณ์ จ.นนทบุรี วงเงินรวม 280 ล้านบาท
14. พัฒนาสะพานลอย สร้างแลนด์มาร์คใหม่ให้ท้องถิ่น เพื่อพัฒนาสะพานข้ามถนนสายหลักให้รองรับการใช้งานของคนและจักรยาน โดยเน้นความสวยงาม และเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยโดยให้เอกชนร่วมพัฒนา สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ส่งเสริมการเดินทางแบบไม่ใช้เครื่องยนต์ รวมทั้งเป็นการสอดรับกับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. นี้ด้วย
การขนส่งทางบก รวม 19 นโยบาย วงเงินลงทุน 4,200 ล้านบาท โดยมีนโยบายต่อเนื่องจากปี 64 ไปสู่ปี 65 ทั้งหมด 15 นโยบาย คือ
1. ระบบติดตามตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ ซึ่งในปี 64 ขนส่งทางบกได้เตรียมความพร้อมร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไว้แล้ว และในปี 65 จะสามารถนำมาตรการหักแต้มใบขับขี่มาใช้งานได้จริง
2. การจัดระเบียบรถจักรยานยนต์เดลิเวอรี่ โดยในปี 64 ขนส่งทางบกได้ออกประกาศกำหนดลักษณะมาตรฐานกล่องบรรจุสินค้าของมอเตอร์ไซด์ดีลิเวอร์รี่ไว้แล้ว และยกร่างกฎหมายกำกับฯ ในปี 65
3. มาตรการ Check คน Check รถ Checking Point ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถลดจำนวนอุบัติเหตุรถสาธารณะได้อย่างเป็นรูปธรรมในปี 64 จึงได้ให้ขนส่งทางบกดำเนินการต่อเนื่องในปี 65 อย่างเข้มข้นต่อไป
4. จัดระเบียบรถรับจ้างผ่านแอปพลิเคชั่น (รถยนต์) ในปี 64 ขนส่งทางบกได้ประกาศจัดระเบียบรถรับจ้างผ่านแอปพลิเคชั่นแล้ว โดยในปี 65 ผู้ประกอบการจะทยอยเข้ามาจดทะเบียนจนครบทุกราย
5. ยกระดับคุณภาพการออกใบอนุญาตขับรถ 7 มิติ โดยในปี 64 ขนส่งทางบกได้ศึกษากรอบแนวคิดเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะเริ่มดำเนินการไปสู่การปฏิบัติในปี 65 เช่น รถบรรทุกวัตถุอันตราย และรถบิ๊กไบค์ เป็นต้น
6. ผลักดันเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถขนส่งสาธารณะ (EV) โดยปี 64 ได้เปิดบริการ EV Bus เส้นทางนำร่องแล้วที่จังหวัดสมุทรปราการ และจะขยายเพิ่มเติมในปี 65 รวมถึงขนส่งทางบกจะเพิ่มมาตรการลดภาษียานยนต์ไฟฟ้าในปี 65 ด้วย
7. พัฒนาระบบ E-Ticket บนรถโดยสารประจำทาง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) และจะขอความเห็นชอบเพื่อพัฒนาระบบ E-Ticket บนรถประจำทางในปี 65
8. นำเทคโนโลยีมาใช้ในการกำกับดูแล ป้องกันการปลอมแปลงเอกสารราชการ ทั้งป้ายทะเบียน และใบอนุญาตต่างๆ โดยได้เริ่มศึกษากรอบแนวคิดเบื้องต้นไว้แล้ว และจะเริ่มดำเนินการในปี 65
9. ผู้จัดการด้านความปลอดภัย (Transport Safety Manager – TSM) โดยขนส่งทางบก ได้เริ่มศึกษากรอบแนวคิดไว้แล้ว และจะเริ่มดำเนินการในปี 65 เช่น อบรมผู้ประกอบการ เป็นต้น
10. ปรับเวลาเดินรถบรรทุก 10 ล้อ ขึ้นไป โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม ออกแบบจุดพัก (Rest Area) และสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) เพื่อรองรับมาตรการห้ามรถบรรทุก 10 ล้อ เข้าเมือง โดยจะสามารถสรุปผลการศึกษาได้ในปี 65
11. โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย โดยในปี 64 ได้ก่อสร้าง และได้ตัวเอกชนบริหารจัดการสถานีแล้ว พร้อมเริ่มดำเนินการภายหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายในปี 65 วงเงินลงทุนรวม 2,864.73 ล้านบาท
12. โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม อยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามกระบวนการการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ (PPP) และจะได้ตัวผู้ร่วมลงทุนในปี 65 วงเงินลงทุนรวม 1,361.36 ล้านบาท
13.แผนเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า โดยปี 64 ขสมก. ได้ปรับเส้นทางเพื่อเป็นศูนย์กลาง (Feeder) ของรถไฟชานเมืองสายสีแดงแล้ว 62 เส้นทาง และจะเพิ่มเติมการเชื่อมต่อสถานีรถไฟรังสิตเพิ่มเติมตามมติ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) อีก 3 เส้นทาง ในปี 65
14. การเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวตามนโยบายการเปิดประเทศ สามารถเตรียมความพร้อมได้ทันภายในปี 64 ตามนโยบายของรัฐบาล
15. การจัดตั้งศูนย์จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า OTOP ปี 64 ได้เตรียมความพร้อมเพื่อเป็นโครงการนำร่องที่สถานีหมอชิตในปี 65 ขับเคลื่อนนโยบายปี 65 ด้วยการพัฒนาระบบคมนาคมที่ยั่งยืน 4 นโยบาย
16. จัดระเบียบรถยนต์จอดทิ้งริมทาง โดยปี 65 นี้ ขนส่งทางบกจะได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้การจัดการวางแผน (Action Plan) ให้ชัดเจนเพื่อจัดทำโครงการนำร่อง ให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
17. จัดระเบียบรถรับจ้างผ่านแอปพลิเคชั่น (รถมอเตอร์ไซด์) โดยในปี 65 นี้ ขนส่งทางบกจะได้ยกร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบฯ เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และรัฐสภา ตามขั้นตอนของกฎหมาย
18. กำหนดหลักเกณฑ์ในการบำรุงรักษารถที่ใช้ในการขนส่ง (ตรวจสภาพรถ)โดยในปี 65 จะบังคับใช้ข้อกำหนดกฎหมายอย่างเต็มรูปแบบ ตามที่ได้รับฟังความเห็นประชาชน และขอความเห็นชอบจากคมนาคมช่วงปลายปี 64 นี้
19. บูรณาการใช้กองทุนเพื่อความปลอดภัย “ขนส่งทางบก-กรมทางหลวง-กรมทางหลวงชนบท-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ให้เกิดผลอย่างแท้จริง โดยจะร่วมกันกำหนดโครงการนำร่องเพิ่มเติมจากเดิม
การขนส่งทางราง รวม 23 นโยบาย วงเงินลงทุน 1.1 ล้านล้านบาท โดยมีนโยบายต่อเนื่องจากปี 64 ไปสู่ปี 65 ทั้งหมด 14 นโยบาย คือ
1. ขับเคลื่อนหลักการ Thai First ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน โดยในปี 64 ครม. รับทราบแนวทางการพัฒนาระบบราง และปี 65 จะมีการผลักดันให้ใช้ในโครงการรถไฟฟ้า สายสีชมพู เหลือง ส้ม และทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง และจัดหารถแคร่ 965 คัน
2. จัดตั้งสถาบันวิจัยทางราง และพัฒนาเทคโนโลยีทางราง โดยในปี 64 ออก พ.ร.ฎ.จัดตั้ง และลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับหน่วยงานวิชาการ และปี 65 แต่งตั้งคณะกรรมการสถาบัน และดำเนินการศึกษาวิจัยเทคโนโลยี EV
3. จัดตั้งบริษัทลูกบริหารสินทรัพย์การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยในปี 64 จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้วเสร็จ และปี 65 ส่งมอบสัญญาเช่าพื้นที่ 10,000 สัญญา และเริ่มพัฒนาพื้นที่สถานีธนบุรี หัวหิน และสินทรัพย์ย่านบางซื่อแปลง A และ E
4. เร่งรัดเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ และในปลายปี 64 จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
5. เร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วม โดยปี 64 จัดทำร่าง พ.ร.บ ตั๋วร่วม และปี 65 ให้บริการบัตรระบบ EMV ในรถไฟฟ้าสายสีแดง ม่วง น้ำเงิน
6. การพัฒนารถไฟทางคู่ โดยปี 64 เปิดบริการ 2 เส้นทาง และเร่งรัดก่อสร้าง 5 เส้นทาง และปี 65 ก่อสร้างแล้วเสร็จ 4 เส้นทาง และเริ่มก่อสร้างสายใหม่ 2 เส้นทาง รวมถึงอนุมัติระยะที่ 2 จำนวน 7 โครงการ 1,483 กม. วงเงินลงทุนรวม 241,822 ล้านบาท
7. กำหนดแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยางเมืองภูมิภาค ปี 64 อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนรูปแบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต และปี 65 จัดทำรายงานการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ (PPP) เพื่อผลัดดันไปสู่ขั้นตอนการประกวดราคาต่อไป
8. พัฒนารถไฟความเร็วสูง ปี 64 รถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา และลงนามงานโยธา 10 สัญญา และปี 65 เร่งรัดการก่อสร้าง โดยระยะที่ 1 ขออนุมัติ และระยะที่ 2 เริ่มก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน วงเงินลงทุนรวม 403,957 ล้านบาท
9. เร่งรัด พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ปี 64 ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. และปี 65 เร่งรัดให้มีผลบังคับใช้ และจัดทำกฎหมายลำดับรองเพิ่มเติม 44 ฉบับ
10. จัดตั้งศูนย์จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า OTOP ปี 64 เตรียมความพร้อมจัดตั้งศูนย์จัดจำหน่าย และปี 65 ให้บริการที่สถานีรถไฟ 16 สถานี และสถานีรถไฟฟ้า 4 สถานี
11. สร้างสรรค์พื้นที่เพื่อสาธารณะประโยชน์ ปี 64 เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ และสถานีมักกะสัน และปี 65 เปิดให้บริการสวนสุขภาพของ รฟม. เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
12. ผลักดันการพัฒนารถไฟ EV ปี 64 ลงนาม บันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมพัฒนารถไฟ EV ต้นแบบ และในปี 65-66 ดัดแปลงรถไฟ EV ต้นแบบเป็นขบวนแรกของประเทศไทย
13. พัฒนาระบบติดตามโครงการก่อสร้างรถไฟปี 64 ระบบติดตามการก่อสร้างรถไฟสายสีส้ม และปี 65 ระบบติดตามการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง
14. จัดทำแผนรองรับการเปิดประเท ปี 64 มีความพร้อมการให้บริการตามมาตรฐานสาธารณสุข พร้อมเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาล ขับเคลื่อนนโยบายปี 65 การพัฒนาระบบคมนาคมที่ยั่งยืน 9 นโยบาย
15. พัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลปี 65 เปิดให้บริการสายสีชมพู เหลือง (บางส่วน) และเริ่มก่อสร้างใหม่ 2 เส้นทาง รวมทั้งนำเสนอ ครม. ให้อนุมัติอีก 5 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 455,255 ล้านบาท
16. การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง หรือทางคู่ (TOD) โดยในปี 64 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาแล้วเสร็จ และจะนำเสนอแผนพัฒนา TOD ให้ ครม. พิจารณา ปี 65-66 ผลักดันการพัฒนาที่ดิน 3 พื้นที่ (ธนบุรี หัวหิน บางซื่อ แปลง A และ E)
17. พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งสำหรับทุกคน (UD) ปี 64 ศึกษาแล้วเสร็จ และจะนำเสนอคมนาคม และปี 65 ขับเคลื่อนแผนเพื่อยกระดับคุณภาพสถานี
18. แก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน โดยปี 65 จะทำการศึกษา และจัดทำแผนในพื้นทีเสี่ยงที่เกิดปัญหาซ้ำซาก
19. แก้ปัญหาจุดตัดรถไฟ โดยในปี 65 พัฒนาแอปพลิเคชั่นแก้ปัญหาจุดตัดรถไฟ และปี 66 ปรับปรุงแก้ไขจุดตัดที่มีความเสี่ยงทั่วประเทศ
20. คมนาคมสีสัน สร้างสรรค์ประเทศไทย โดยปี 65 จะพัฒนาแลนด์มาร์คตามแนวเส้นทางรถไฟ 3 เส้นทาง
21. จัดทำระบบติดตามขบวนรถไฟและจัดการงานขนส่งสินค้า โดยปี 65 จะดำเนินการจ้างเพื่อศึกษาจัดทำระบบ
22. บริหารจัดการจราจรทางรางด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยในปี 65 จะมีการศึกษาความเป็นไปได้
23. การออกใบอนุญาตผ่านระบอิเล็กทรอนิกส์ (e-License) โดยในปี 66 จะสามารถออกใบอนุญาตผ่านระบบดิจิทัลได้
การขนส่งทางน้ำรวม 15 นโยบาย วงเงินลงทุน 12,600 ล้านบาท โดยมีนโยบายต่อเนื่องจากปี 64 ไปสู่ปี 65 ทั้งหมด 2 นโยบาย คือ
1. การเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกสู่ภาคใต้ โดยช่วงปลายปี 64 จะมีการประกาศจัดสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) และปี 65 เปิดให้บริการเส้นทางสัตหีบ-สงขลา
2. การผลักดันเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับเรือโดยสารสาธารณะ โดยในปี 64 มีเรือให้บริการ 24 ลำ และปี 65 จะเพิ่มอีก 28 ลำ และสร้างมาตรฐานเรือ EV ให้เกิดขึ้นด้วยการขับเคลื่อนนโยบายปี 65 การพัฒนาระบบคมนาคมที่ยั่งยืน 13 นโยบาย
3. กฎหมายการขนส่งทางน้ำต้องทันสมัย โดยในปี 65 จะมีการทบทวน และรวบรวมกฎหมายที่ต้องปรับปรุง และปี 66 จะเสนอกฎหมายที่ปรับปรุงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา
4. สิ่งรุกล้ำลำน้ำต้องลดลง โดยปี 64 ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลแผนที่สิ่งรุกล้ำลำน้ำ และปี 65 จะมีหน่วยงานกำกับดูแล และบังคับใช้กฎหมาย
5. ต้องมีฐานข้อมูลยานพาหนะทางน้ำ โดยในปี 65 ศึกษาสำรวจจัดทำฐานข้อมูลยานพาหนะทางน้ำ และปี 66 จดทะเบียนยานพาหนะทางน้ำเพื่อกำกับดูแล
6. องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ต้องมีความพร้อม โดยในปี 65 แก้ไขข้อบกพร่องตามแผนปฏิบัติการ และปี 66 รับการตรวจประเมินจาก IMO
7. จัดทำแผนความมั่นคงทางทะเลในปี 65 ให้เกิดขึ้น
8. แนวป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง ต้องมีความคงทน โดยในปี 65 จะสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งช่วง อ.พระนครศรีอยุธยา 4 กม. วงเงินลงทุนรวม 1,010 ล้านบาท และปี 66 สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งถึง อ.นครหลวง อีก 13 กม. วงเงินลงทุนรวม 5,105 ล้านบาท
9. การจัดทำโคร่งร่าง (Master Plan) ฟื้นฟูชายหาดต้องครอบคลุม โดยในปี 65 จะจัดทำ Master Plan และฟื้นฟูหาดจอมเทียน วงเงินลงทุนรวม 586 ล้านบาท และปี 66 เสริมทรายชายหาดอื่นโดยมีหาดพัทยาเป็นต้นแบบ (หาดบางแสน วงเงินลงทุนรวม 440 ล้านบาท หาดจอมเทียน ระยะ 2 วงเงินลงทุนรวม 420 ล้านบาท ส่วนหาดชะอำ และหาดเขาหลัก ต้องรอผลการศึกษาซึ่งจะแล้วเสร็จกลาง ปี 65)
10. ท่าเรือยอร์ชคลับ ต้องสามารถสร้างรายได้ โดยในปี 65 จะศึกษาความเป็นไปได้และรูปแบบบการลงทุน และปี 66 พัฒนาท่าเรือที่เหมาะสมให้เป็นยอร์ชคลับ
11. แผนการเชื่อมต่อท่าเรือกับสถานีรถไฟฟ้า ต้องมีความสมบูรณ์ โดยในปี 65-66 จะเชื่อมต่อท่าเรือกับสถานีรถไฟฟ้าครบ 12 จุด ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
12. สายการเดินเรือแห่งชาติ ต้องเปิดบริการ โดยในปี 64 มีการศึกษาความเป็นไปได้ และปี 65 จัดตั้งสายเดินเรือแห่งชาติและเปิดให้บริการเส้นทางในประเทศ (Domestic)
13. ท่าเรือต้องเป็น Automation โดยปี 65 จะพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเป็น Automation Port และปี 66 พัฒนาท่าเรืออื่นของกรมเจ้าท่า และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ให้เป็น Automation เพื่อลดต้นทุน เช่นค่าระวาง เป็นต้น
14. จัดเตรียมบุคลากรให้เพียงพอในปี 65 โดยจะมีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับสถาบันการศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านพาณิชยนาวี และปี 66 เปิดหลักสูตรการเรียนการสอน หรือฝึกสอน (Training)
15. นโยบายเปิดประเทศต้องมีมาตรการรองรับ โดยในปี 65 กำหนดมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าพื้นที่ของนักท่องเที่ยว
การขนส่งทางอากาศ รวม 9 นโยบาย วงเงินลงทุน 58,300 ล้านบาท โดยมีนโยบายต่อเนื่องจากปี 64 ไปสู่ปี 65 ทั้งหมด 4 นโยบาย คือ
1. การเร่งรัดพัฒนาท่าอากาศยานเป็นศูนย์กลางรวบรวม กระจายสินค้าเกษตร โดยในปี 65 ท่าอากาศยานจะเปิดให้บริการศูนย์กลางรวบรวม กระจายสินค้าเกษตร 22 แห่ง และท่าอากาศยานไทย (ทอท.) จะเปิดให้บริการ 1 แห่ง
2. การจัดตั้งศูนย์จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า OTOP ปี 65 ท่าอากาศยานจะเปิดให้บริการศูนย์จัดจำหน่าย และกระจายสินค้า OTOP จำนวน 20 แห่ง และทอท. เปิดให้บริการ 6 แห่ง
3. การให้สิทธิ ทอท. บริหารจัดการท่าอากาศยานของท่าอากาศยาน ปี 65 จะทำการโอนสิทธิ์การบริหารให้ ทอท.
4. การเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวตามนโยบายเปิดประเทศปี 64 ซึ่งมีความพร้อมการให้บริการตามมาตรฐานสาธารณสุขแล้ว พร้อมเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาล พร้อมขับเคลื่อนนโยบายปี 65 การพัฒนาระบบคมนาคมที่ยั่งยืน 5 นโยบาย
5. พัฒนาท่าอากาศยาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับ และเพิ่มประสิทธิภาพ โดยในปี 65 ท่าอากาศยาน และ ทอท. ดำเนินการเร่งพัฒนา 8 ท่าอากาศยาน วงเงินลงทุนรวม 58,364 ล้านบาท
6. พัฒนาห้วงอากาศและระบบการเดินอากาศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับ และเพิ่มประสิทธิภาพ โดยในปี 65 จะเริ่มนำระบบ Automation มาใช้ ณ ศูนย์ควบคุมการบิน ท่าอากาศยานหัวหิน
7. พัฒนากฎหมาย และกฎระเบียบ เพื่อรองรับเทคโนโลยีแห่งอนาคตปี 65 ปรับปรุงกฎระเบียบรองรับการใช้โดรน (Drone) หรืออากาศยานไร้คนขับ (UAV)
8. ยกระดับอุตสาหกรรมการบินของประเทศ โดยในปี 65 กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น ( กบท.) จะจัดทำแผนยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการบิน ในด้าน Safety & Security ตามมาตรฐาน ICAO / FAA และด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม
9. บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในปี 65 ได้มีการนำร่องลงนาม บันทึกข้อตกลง (MOU) กับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) แล้ว
ทั้งนี้ รมว.คมนาคมยังได้กำชับให้หน่วยกำกับดูแลถอดบทเรียน และทบทวนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงปี 63 ก่อนประมวลแนวทางปฏิบัติและนำเสนอมาตรการดังกล่าวมายังคมนาคม ก่อนคมนาคมจะนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อ ศบค. ต่อไป
อย่างไรก็ดี นโยบายที่กระทรวงคมนาคมจะผลักดันในปี 65 นั้นเพื่อเป็นการพัฒนาระบบคมนาคมที่ยั่งยืน และวางรากฐานการเชื่อมโยงโครงข่าย และบริการด้านคมนาคมอย่างบูรณาการ พร้อมมุ่งเน้นประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ต.ค. 64)
Tags: กระทรวงคมนาคม, ก่อสร้าง, คมนาคม, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, โครงสร้างพื้นฐาน