เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ที่ผ่านมาประเทศเอลซัลวาดอร์ (El Salvador) เป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายกำหนดให้ Bitcoin มีสถานะเป็นเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (Legal Tender) ประชาชนชาวเอลซัลวาดอร์สามารถใช้ Bitcoin แลกเปลี่ยนสินค้าได้เทียบเท่าเงิน (Fiat Currency) อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
บางท่านอาจสงสัยว่าหลายประเทศในโลกรวมถึงประเทศไทยของเรามีกฎหมายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลมานานแล้ว แต่เหตุใด จึงนับประเทศเอลซัลวาดอร์เป็นประเทศแรกที่ Bitcoin มีสถานะเป็นเงินตรา สาเหตุนั้นมาจากกฎหมายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่กำหนดลักษณะของ Bitcoin หรือคริปโทเคอร์เรนซีให้มีลักษณะเป็นทรัพย์สิน (Property) ประเภทหนึ่ง แต่ไม่ได้กำหนดให้มีลักษณะเป็นเงินตราที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
ตัวอย่างเช่น พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ของประเทศไทยกำหนดให้คริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัลมีลักษณะสำคัญร่วมกันประการหนึ่งคือ มีการกำหนดสิทธิหรือถูกสร้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด แต่ก็ไม่ได้กำหนดหรือรับรองให้สินทรัพย์ดิจิทัล เช่น Bitcoin เป็นเงินตราที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายดังเช่นการรับรองเหรียญกษาปณ์และธนบัตรให้เป็นเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายตาม พระราชบัญญัติ เงินตรา พ.ศ. 2501
การใช้ Bitcoin ซื้อสินค้าและผู้ขายยอมรับ Bitcoin เพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าจะมีผลผูกพันทางกฎหมายหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากเอกเทศสัญญาที่ถูกกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทย ซึ่งเมื่อพิจารณา “การใช้ Bitcoin ซื้อสินค้า” ว่ามีลักษณะเป็นการ ซื้อขาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่นั้น ผู้เขียนเห็นว่านิติกรรมดังกล่าวไม่ถือเป็นการ “ซื้อขาย” เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ วางหลักว่า “ซื้อขาย” นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย ซึ่งการใช้ราคานั้นจำต้องเป็นเงินตราตามกฎหมายเท่านั้น
ดังนั้น การใช้ Bitcoin ซื้อสินค้าซึ่งไม่เข้าลักษณะการซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทย เนื่องจาก Bitcoin ไม่ใช่เงินตราตามกฎหมายของประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน Bitcoin เป็นสิ่งที่มีราคาและถือเอาได้ จึงเป็นทรัพย์สินตามกฎหมายของประเทศไทยเมื่อนำไปทำนิติกรรมเพื่อให้ได้สินค้า โดยที่ผู้ซื้อจะโอนกรรมสิทธิ์ใน Bitcoin ไปยังผู้ขายและผู้ขายก็โอนกรรมสิทธิ์ในสินค้ามายังผู้ซื้อ กล่าวคือผู้ซื้อและผู้ขายต่างโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้กันและกันจึงมีลักษณะเป็นการ แลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นสัญญารูปแบบหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทย
แม้ในประเทศไทย Bitcoin จะไม่มีสถานะทางกฎหมายเป็นเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเช่นเดียวกันกับประเทศเอลซัลวาดอร์ แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ Bitcoin เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าในประเทศไทยก็ยังคงมีฐานทางกฎหมายรองรับนิติกรรมดังกล่าว กล่าวคือเป็นการ แลกเปลี่ยน ทรัพย์สินระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายสินค้า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายจะอ้างเหตุที่ Bitcoin ยังไม่ได้รับรองหรือถูกกำหนดให้เป็นเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในประเทศไทยเพื่อไม่ชำระค่าสินค้าหรือไม่ส่งมอบสินค้าไม่ได้
โดย นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ
ทนายความหุ้นส่วน กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์ (ABER Group)
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center: THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ต.ค. 64)
Tags: bitcoin, Cryptocurrency, Decrypto, Fiat Currency, คริปโทเคอร์เรนซี, สินทรัพย์ดิจิทัล, เอลซัลวาดอร์