พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เดินทางมายังเขื่อนสิรินธร ต.นิคมลำโดมน้อย อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำ และการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า โดยใช้นวัตกรรมโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดกับพลังน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่าง “พลังงานแสงอาทิตย์” และ “พลังน้ำ” โดยโซลาร์เซลล์จะผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และนำพลังน้ำมาผลิตไฟฟ้าเสริมในช่วงที่ความเข้มแสงไม่เพียงพอหรือช่วงกลางคืน ทำให้ผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ช่วยลดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียนที่ปกติแล้วจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ
นายกรัฐมนตรี ชื่นชมการดำเนินการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดโลกร้อน โอกาสนี้ ยังได้สอบถามถึงศักยภาพปริมาณน้ำในเขื่อนในการรองรับปริมาณน้ำฝน กำชับเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์ที่สุด ในส่วนของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ขอให้แก้ไขในแต่ละจุดเพื่อลดผลกระทบบรรเทาความเดือดร้อนต่อประชาชน ยืนยันรัฐบาลพร้อมดำเนินการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่บางโครงการติดปัญหาเรื่องผลกระทบต่อชาวบ้าน ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็น เร่งสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านต่อไป
จากนั้น นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ได้เยี่ยมชม “เส้นทางเดินชมธรรมชาติ หรือ Nature Walkway” ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เร่งก่อสร้างเพื่อเป็นจุดเช็คอินและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ของ จ.อุบลราชธานี สามารถชมโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกในมุมสูงอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับภูมิทัศน์รอบพื้นที่รวมถึงก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์สำหรับให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวก่อนเดินชม เตรียมเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ในเดือนมกราคม 2565 คาดว่าจะช่วยเสริมให้ธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดกลับมาคึกคัก ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ รู้สึกดีใจกับชาวอุบลราชธานีที่มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ หวังให้เป็นแลนด์มาร์คด้านการท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุบลราชธานี ช่วยสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัด พร้อมกับแนะนำให้ปลูกไม้ยืนต้นให้มีสีสันที่งดงามสร้างบรรยากาศตลอดเส้นทางการเดินชม Nature Walkway
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ต.ค. 64)
Tags: กฟผ., ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ผลิตไฟฟ้า, พลังงาน, อุบลราชธานี, โซลาร์เซลล์, โรงไฟฟ้า