นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการคาดการณ์สภาพอากาศตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 17 ต.ค.64 ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
จากการประเมินปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พบว่า มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เสี่ยงมีปริมาณน้ำเกินความจุ จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นสะสม 3 วันล่วงหน้า จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ อ่างฯทับเสลา จ.อุทัยธานี ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 162 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 101% ของความจุ คาดว่าจะมีน้ำไหลลงอ่างฯสะสม เพิ่มขึ้น 29 ล้าน ลบ.ม., อ่างฯกระเสียว จ.สุพรรณบุรี ปริมาณน้ำ 292 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 98% ของความจุ คาดการณ์น้ำไหลลงอ่างฯ เพิ่มขึ้น 13 ล้าน ลบ.ม., อ่างฯขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 224 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 100% ของความจุ คาดการณ์น้ำไหลลงอ่างฯเพิ่มขึ้น 11 ล้าน ลบ.ม. และอ่างฯนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี ปริมาณน้ำ 307 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 104% คาดการณ์น้ำไหลลงอ่างฯ เพิ่มขึ้น 32 ล้าน ลบ.ม.
พร้อมทั้งเฝ้าระวังอ่างฯ ขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 95% ในพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณภาคเหนือ จ.กำแพงเพชร ภาคกลาง จ.ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย อำนาจเจริญ ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด จันทบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว
ทั้งนี้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ได้สั่งการให้ สทนช.ประสานและแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาวางแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ และในลำน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบจากน้ำล้นอ่างเก็บน้ำเข้าท่วมพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำให้น้อยที่สุด ตรวจสอบเสถียรภาพและความมั่นคงของตัวเขื่อน รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้ทราบและเตรียมความพร้อมรับมือ ลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินให้ได้มากที่สุดด้วย
“ช่วงบ่ายวันนี้ สทนช.ได้ประชุมร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อซักซ้อมแนวทางปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา เพื่อเพิ่มพื้นที่ในอ่างฯ รองรับปริมาณฝนในช่วงเดือน พ.ย. ที่คาดว่าจะมีฝนเพิ่มขึ้น พร้อมทบทวนแนวทางการบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ เพื่อป้องกันลดผลกระทบแก่ประชาชนในพื้นที่ โดย สทนช.จะติดตามประเมินสถานการณ์ของอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องพิจารณาบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ช่วยป้องกัน แก้ไขคลี่คลายปัญหา และบรรเทาผลกระทบความเดือดร้อนในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง”
นายชยันต์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ต.ค. 64)
Tags: กฟผ., กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ, กอนช., การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, ชยันต์ เมืองสง, ฝนตกหนัก, สทนช., อ่างเก็บน้ำ, เขื่อน