นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ อีอีซี กล่าวภายหลังการลงนามกับ 4 บริษัทไอทีชั้นนำจากสหรัฐ ได้แก่ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) , บริษัท มาเวเนีย ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) , บริษัท 5จี แคททะลิชท์ เทคโนโลยีส์ และ บมจ.แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย (PLANET) ในการพัฒนาทักษะบุคลากรเพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 5G แก่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี ว่า
การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนเป็นห่วง ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการแรงงานทั้งหมดราว 4.7 แสนคน ทำให้ สกพอ.เริ่มดำเนินการในเรื่องนี้ทันทีตั้งแต่เริ่มโครงการอีอีซีเมื่อกว่า 3 ปีที่ผ่านมา หลังพบว่าในพื้นที่มีผู้จบปริญญาตรีกว่า 2 แสนราย ขณะที่มีตำแหน่งงานว่าง 5 หมื่นตำแหน่ง แต่ไม่มีคนมาสมัคร เพราะมีวุฒิไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดย สกพอ.ได้ประสานกับผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการปรับโครงสร้างการศึกษาทั้งในระยะยาวและระยะสั้น
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ คาดว่าจะผลิตบุคลากรด้านไอทีได้ราว 4 หมื่นคนภายใน 3 ปี ซึ่งเมื่อรวมกับความร่วมมือในส่วนอื่นๆ ที่ สกพอ.ได้ดำเนินการไปแล้วจะสามารถผลิตบุคลากรด้านไอทีได้ราว 1 แสนคน เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป็นต้น
“การพัฒนาบุคลากร เป็นความหวังที่จะผลิตคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกระนาดที่ 10 ที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีของเราได้เอง” นายคณิศ กล่าว
เลขาธิการ กพอ.กล่าวว่า ความร่วมมือกับ 4 บริษัทไอทีก่อนหน้านี้ เป็นการนำร่องพัฒนาเมืองต้นแบบ (สมาร์ทซิตี้) ที่บ้านฉาง พื้นที่ 2 ตารางกิโลเมตร นอกเหนือจากการพัฒนาอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วย
เช่น การแจ้งข้อมูลอุบัติเหตุให้ รพ.รับทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมในการช่วยชีวิตได้เร็วขึ้น หรือการป้องกันปัญหาอาชญากรรม ซึ่งตนคิดว่ามีมูลค่าเยอะ แต่ไม่สามารถประมาณการได้ ขณะที่ สกพอ.มีความร่วมมือกับหลายบริษัทโดยไม่ได้คำนึงถึงประเด็นทางการเมือง แต่มุ่งตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ และดูแลผู้ที่เข้ามาลงทุนทุกรายเป็นอย่างดี
“การนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาใช้งานจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีผลิตผลดีขึ้น ค่าใช้จ่ายลดลง สามารถเชื่อมต่อห่วงโซ่การผลิตทั่วโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่า ขณะที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายคณิศ กล่าว
นายอภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) กล่าวว่า ได้มีการปรับโครงการสร้างการศึกษาทั้งระบบให้มีทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยการสร้างความร่วมมือจากผู้เกี่ยวของทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้มั่นใจว่าการพัฒนาพื้นที่อีอีซีจะไม่เกิดปัญหาสะดุดจากการขาดแคลนบุคลากรอย่างแน่นอน เพราะจะมีหลักสูตรในการสร้างบุคลากรทั้งนิวสกิล รีสกิล และอัพสกิล นอกจากนี้ ยังมีการต่อยอดทำวิจัยเพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ด้วย
นายชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษ สกพอ.ด้านการพัฒนาการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยี กล่าวว่า การนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาใช้งานจะช่วยให้ผู้ประกอบการขยายขอบเขตธุรกิจรองรับการแข่งขันที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ สามารถทำการค้าได้รวดเร็วขึ้น ช่วยสร้างมูลค่าให้กับสินค้า ขณะที่เด็กรุ่นใหม่มีความสามารถและสนใจด้านไอที หากได้รับการส่งเสริมและมีเวทีในการใช้งานสร้างประสบการณ์จริงในพื้นที่อีอีซี ก็จะสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ต.ค. 64)
Tags: คณิศ แสงสุพรรณ, อภิชาต ทองอยู่, อีอีซี, เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก