นักวิทย์แนะยุโรปลดเที่ยวบินระยะสั้น ชี้ต้นเหตุปล่อยมลพิษ

คณะผู้เชี่ยวชาญของสหราชอาณาจักรเรียกร้องยุโรปลดจำนวนเที่ยวบินระยะสั้น หลังคณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ศึกษาพบว่าเที่ยวบินนี้เป็นตัวการหลักในการปล่อยก๊าซพิษในอุตสาหกรรมการบินของยุโรป

คณะนักวิจัยพบว่าทวีปยุโรปมีเที่ยวบินระยะสั้น ซึ่งมีพิกัดการบินต่ำกว่า 500 กิโลเมตรจำนวนมาก เชื่อมต่อระหว่างเมืองที่มีเส้นทางการขนส่งสาธารณะอื่นอยู่แล้ว

ศาสตราจารย์อันโตนิโอ ฟิลิปโปเน ผู้ดำเนินการวิจัยหลักระบุว่า หน่วยงานด้านการบินและสายการบินควรทบทวนความถี่ของเที่ยวบินในเส้นทางเหล่านี้เพื่อลดการปล่อยมลพิษ เพื่อใช้งานเครือข่ายการบินให้ได้ประโยชน์สูงสุด ลดปริมาณการจราจรทางอากาศ และมีส่วนร่วมเชิงบวกต่อการสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

คณะนักวิจัยระบุว่าผลการวิจัยนี้เป็นโอกาสดีที่จะลดปริมาณการปล่อยมลพิษที่ไม่จำเป็น เพื่อไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

คณะผู้เชี่ยวชาญออกมากล่าวถึงประเด็นนี้ก่อนหน้าที่การประชุมสหประชาชาติ (UN) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) จะจัดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ และกำหนดให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นพันธกิจหลักของผู้นำทั่วโลก

โฆษกมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ระบุว่า ระยะทางของเที่ยวบินเป็นปัจจัยสำคัญของปริมาณการปล่อยก๊าซในอุตสาหกรรมการบิน จึงควรมีการตรวจสอบทบทวนเครือข่ายการบินของยุโรป โดยพิจารณาตัวเลือกการเดินทางอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยใช้ระบบการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อติดตามการจราจรทางอากาศทั่วโลก จากนั้นนำข้อมูลมาบูรณาการกับแบบจำลองการปล่อยก๊าซของอากาศยาน เพื่อสร้างการคาดการณ์เชิงปริมาณสำหรับการปล่อยไอเสียของเครื่องยนต์ในอากาศยานส่วนมาก ซึ่งรวมถึงการเผาไหม้เชื้อเพลิง, ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน, ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์, ไฮโดรคาร์บอนที่ไม่ได้เผาไหม้ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์

งานวิจัยได้ตรวจสอบเที่ยวบินระยะสั้นระหว่างเมืองในสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี โปแลนด์ และเที่ยวบินเหนือพื้นที่ราบ โดยคณะนักวิจัยวิเคราะห์เส้นทางที่มีการใช้งานบ่อยครั้ง อาทิ โคเปนเฮเกน-โบรมมา (สตอกโฮล์ม), โกเธนเบิร์ก-โบรมมา (สวีเดน), ฟิอูมิชิโน (โรม)-ลินาเท (มิลาน), มาดริด-โอโปร์โต (โปรตุเกส) และเที่ยวบินภายในประเทศของโปแลนด์ อาทิ วอร์ซอ-คราคอฟ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ต.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top