![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2021/10/121064-flood.jpg)
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการระหว่างกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนนทบุรี ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวานนี้ (11 ต.ค.) เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือไหลหลาก
ซึ่งขณะนี้มวลน้ำกำลังเดินทางลงสู่ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล กทม.จึงจัดการประชุมความร่วมมือดังกล่าว เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจากน้ำเหนือไหลหลากให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งเพื่อเป็นการเตรียมการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หากเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง
ในที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการร่วมกันบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แต่ละจังหวัด การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดฝนตกหนัก มีน้ำท่วมขัง ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ การเรียงกระสอบทราย การเก็บผักตบชวา แผนบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า การติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
รวมทั้งการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติป้องกัน และการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือแผนเผชิญเหตุ CPX ร่วมกัน อีกทั้งได้หารือและเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบระบายน้ำ อาทิ โครงการระบบระบายน้ำแนวถนนวิภาวดี ตั้งแต่แยกดินแดงถึงฐานทัพอากาศ และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ
ทั้งนี้ จังหวัดปริมณฑลทั้ง 6 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมบูรณาการความร่วมมือการบริหารจัดการน้ำร่วมกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนครอบคลุมทั้ง 6 จังหวัด รวมทั้งประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่รอยต่อมีความเชื่อมโยงกัน โดยจะประสานความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ
ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ได้เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง เนื่องจากฝนตกและน้ำเหนือไหลหลากในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่รอยต่อจังหวัดปริมณฑล โดยเตรียมความพร้อมของระบบระบายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ดังนี้
- ทำความสะอาดท่อระบายน้ำในถนนสายหลัก ตรอก ซอย ความยาวรวม 6,564 กิโลเมตร ดำเนินการ โดยใช้แรงงานของสำนักระบายน้ำและสำนักงานเขต และจ้างเหมาเอกชนดำเนินการ
- เปิดทางน้ำไหล ขุดลอกคูคลอง จัดเก็บขยะวัชพืช 1,980 คลอง ยาว 2,743 กิโลเมตร
- เตรียมความพร้อมของสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ และบ่อสูบน้ำ จำนวน 762 แห่ง กำลังสูบรวม 2,467 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยสถานีสูบน้ำมีขีดความสามารถในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ 1,087 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
- ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่เฝ้าระวัง มีขีดความสามารถในการระบายน้ำท่วมขัง 482 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
- เตรียมความพร้อมของอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ขีดความสามารถในการระบายน้ำท่วมขัง 195 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
- สร้างท่อเร่งระบายน้ำ (Pipe jacking) จำนวน 10 จุด
- ตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ ความยาว 87.93 กิโลเมตร
- เรียงกระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราวริมคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำตามจุดต่างๆ 14 จุด รวมระยะทาง 2,512 เมตร
- ลดระดับน้ำในคลองและแก้มลิงจำนวน 30 แห่ง และสร้างธนาคารน้ำ(water bank) จำนวน 2 แห่ง เพื่อชะลอน้ำท่วมปริมาณ 13.41 ล้านลูกบาศก์เมตร มาเก็บกักในแก้มลิงเป็นการชั่วคราวก่อนระบายลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ
- จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ กรณีฉุกเฉิน อาทิ กระสอบทราย และรถเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน
- จัดเตรียมหน่วยบริการเร่งด่วน หรือหน่วย BEST เละเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย 24 ชั่วโมง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเร่งด่วน นอกจากนี้ ยังจัดหน่วยบริการฉุกเฉินเพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาเนื่องจากน้ำท่วมขังประจำทุกสำนักงานเขต
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนบูรณาการบริหารจัดการน้ำระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลว่า กทม.ได้ร่วมกับกรมชลประทาน บูรณาการการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน และได้กำหนดเกณฑ์ค่าระดับและปริมาณน้ำที่ปล่อยเข้าสู่กรุงเทพฯ บริเวณรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดปริมณฑล เพื่อช่วยรองรับน้ำจากพื้นที่ตอนบน โดยไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ และระบายน้ำออกนอกพื้นที่ไม่ให้กระทบพื้นที่รอยต่อ เช่น สถานีสูบน้ำคลองหกวา สายล่าง ช่วงฤดูฝน จะเดินเครื่องสูบน้ำเมื่อค่าระดับน้ำภายในสูงเกินกว่า +0.90 ม.รทก. และจะหยุดเดินเครื่องสูบน้ำเมื่อค่าระดับน้ำภายนอกสูงถึง +1.70 ม.รทก.
ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสถานการณ์น้ำเหนือและน้ำจากแม่น้ำป่าสักจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ และคาดว่ามวลน้ำที่ผ่านบางไทร จะลดลงต่ำกว่า 2,000 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 20 ต.ค.64 ซึ่งจะทำให้ กทม.และปริมณฑลไม่ได้รับผลกระทบ แต่ให้เฝ้าระวังน้ำละเลหนุนสูงในช่วงนี้
ด้านปริมาณน้ำของกรมชลประทานที่อำเภอบางไทรวันนี้ (12 ต.ค.) ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านกทม. เฉลี่ย 2,817 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาดของ กทม. อยู่ที่ระดับ 2.05 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพฯ อยู่ประมาณ 0.95 เมตร จึงยังไม่ส่งผลกระทบในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยวันนี้ฐานน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงสุดเวลา 20.31 น. ที่ระดับ +1.17 ม.รทก.
สำหรับระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออก ณ ประตูระบายน้ำคลองสอง (สายใต้) อยู่ในระดับปกติ +0.84 (ระดับวิกฤติ +1.80) ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) อยู่ในระดับปกติ +0.50 (ระดับวิกฤติ +0.90) ประตูระบายน้ำลาดกระบัง อยู่ในระดับปกติ +0.04 (ระดับวิกฤติ +0.60)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ต.ค. 64)
Tags: lifestyle, กทม., ปริมณฑล, สถานการณ์น้ำ, อัศวิน ขวัญเมือง