นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ Chief Research Officer บล.ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า วัฏจักรเศรษฐกิจกำลังจะเปลี่ยนจากภาวะ Reflation สู่ภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น) ตลาดปรับลดมุมมองเกี่ยวกับการเติบโตลงโดยมีสาเหตุมาจากการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และการเติบโตของจีน
ขณะที่ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสืบเนื่องมาจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานองค์ประกอบความกังวลที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง คือ ความเสี่ยงจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้าและบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีนรวมถึงการปรับลดวงเงิน QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยคาดเฟดจะประกาศลด QE จริงในไตรมาส 4/64 ซึ่งการปรับลดวงเงินมาตรการซื้อสินทรัพย์ (QE tapering) อาจจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงและเพิ่มความเสี่ยงให้กับสินทรัพย์ทางการเงิน เมื่อสินทรัพย์รวมของธนาคารกลางปรับตัวลดลง ผลตอบแทนของตลาดจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ
ส่วนความกังวลจากประเทศจีน คือ กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นของสถาบันการเงินส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ตัวอย่างเช่น กรณีของบริษัท Evergrande ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับสองในจีนมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ นอกจากนี้เมื่อ yield curve เปลี่ยนเป็น Bear หรือ Bull flattening ผลตอบแทนโดยรวมของสินทรัพย์เสี่ยง (รวมถึง SET) ยังคงเป็นบวกแต่จะลดลงสู่ตัวเลขหลักเดียว
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ตัวเลขเศรษฐกิจไทยล่าสุดแสดงถึงการปรับตัวดีขึ้นบ้างหลังจากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เริ่มปรับตัวลดลงตามลำดับ ในขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ระดับมากกว่า 500,000 คน/วัน ส่งผลทำให้รัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในจังหวัดพื้นที่สีแดง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ก.ค. 64 ส่งสัญญาณถึงการปรับตัวแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ดังนั้นเราจึงยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไว้ที่ ประมาณ 1% ในปีนี้ ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 2% โดยมีสาเหตุมาจากมาตรการล็อกดาวน์รอบล่าสุด เราเชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์และการทยอยกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับโมเดลของ SCBS
แนวโน้มตลาดหุ้นไทยไตรมาส 4/64 โดยปกติแล้วไตรมาส 4 เป็นไตรมาสที่แข็งแกร่งและผลตอบแทนเป็นบวก โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4% และปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 60%ในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่ออิงกับข้อมูลในอดีต นอกจากนี้ไตรมาส 4/64 ยังเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดสาหรับหุ้นที่มี beta สูง เช่น หุ้นขนาดเล็ก หุ้นคุณค่า และหุ้นวัฏจักร แต่ครั้งนี้อาจจะแตกต่างออกไป โดยมีสาเหตุมาจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะ stagflation
โดยมีแรงกดดันด้านมาร์จิ้น QE tapering และความเสี่ยงด้านการเมืองที่สูงขึ้นซึ่งอาจทำให้ตลาดเกิดความผันผวนในไตรมาสนี้ และเพื่อเตรียมรับมือกับความผันผวนที่เพิ่มขึ้น จึงแนะนำให้คงการถือครองหุ้นขนาดใหญ่และกลุ่มหุ้นเชิงรับที่กำไรมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งและงบดุลแข็งแรงเพื่อลดความผันผวนและป้องกันผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
ส่วนหุ้นเด่นไตรมาส 4/64 แนะนำหุ้นที่มีลักษณะเฉพาะ 1. เป็นหุ้นเชิงรับ 2. หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 3. หุ้นที่มีอำนาจในการกำหนดราคาสูง และ 4. หุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงจากปัจจัยเศรษฐกิจมหภาค หุ้นแนะนำคือ BEM, KCE, OSP, SECURE และ ZEN
- BEM : เป็นหุ้นที่อิงกับปัจจัยภายนอกประเทศน้อย คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามการคลายมาตรการโควิด-19 หลังจากกรุงเทพมีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นและจำนวนผู้ป่วยลดลง ส่วนปริมาณจราจรบนทางด่วนมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นยังมีความน่าจะเป็นในการชนะการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
- KCE : กำไรของบริษัทมีแนวโน้มเติบโต HoH และ YoY ในครึ่งปีหลังของปี 64 ภาพอุตสาหกรรมมีการเติบโตในระดับสูง บริษัทสามารถส่งผ่านต้นทุนไปยังลูกค้าได้ เนื่องจากความต้องการสินค้าของบริษัทอยู่ในระดับที่สูงและมีปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนค่อนข้างจำกัด ค่าเงินบาทจะเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนการเพิ่มขึ้นของกำไร
- OSP : เป็นหุ้นที่มีลักษณะเชิงรับและมีความผันผวนต่ำ เป็นบริษัทที่ได้ประโยชน์จากการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งการฟื้นตัวของตลาดภายในประเทศของสินค้าจำเป็นและเครื่องดื่มจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดพม่าที่คิดเป็น 10% ของรายได้
- SECURE : เป็นหุ้นขนาดเล็กที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่าง Cybersecurity (ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์) ที่คาดว่าจะมีความต้องการและลงทุนในกลุ่มนี้ค่อนข้างสูงในอีก 3 ปีข้างหน้า และเป็นหุ้นที่เข้าในธีมธุรกิจใหม่ที่มี S-curve ในระยะยาว
- ZEN : การทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ช่วยสนับสนุนให้ผลประกอบการเริ่มฟื้นตัวและผ่านจุดต่ำสุด กลยุทธ์ในการเร่งขยายธุรกิจแฟรนไซส์มากกว่า 30 สาขาในครึ่งหลังของปี 64 จะส่งผลให้อัตราการทำกำไรเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง โดยประเมินว่าผลประกอบการจะมีกำไรในปี 65
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 64)
Tags: BEM, KCE, OSP, SCBS, SECURE, ZEN, บล.ไทยพาณิชย์, สุกิจ อุดมศิริกุล