นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกขึ้นไปสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 หรือในรอบเกือบ 7 ปี คาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันเป็นขาขึ้นไปจนถึงกลางปี 2565 เป็นอย่างน้อย และมีโอกาสที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะเลเหนือปรับตัวทะลุระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ในช่วงไตรมาสแรกปี 2565
แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนภาคการผลิต การขนส่งคมนาคมสูงขึ้น และค่าใช้จ่ายครัวเรือนปรับตัวเพิ่มขึ้น การปรับขึ้นของราคาพลังงานเป็นผลจากราคาพลังงานในตลาดโลกเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าช่วงปลายปี ราคาน้ำมันน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 75-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
“หากเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวดีต่อเนื่อง และกลุ่มโอเปกพลัสยังคงไม่เพิ่มกำลังการผลิตไปมากกว่าเดิม อาจเห็นราคาน้ำมันในตลาดโลกขึ้นแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า” นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ผลบวกของเศรษฐกิจไทยโดยรวม จากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นถือว่ามีน้อยมาก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงานและน้ำมันสุทธิ อีกทั้งยังนำเข้ามาก ดังนั้นผลประโยชน์จะเกิดต่อธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงานเท่านั้น และอาจมีผลบวกต่อสินค้าที่ใช้ทดแทนกันสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบสำคัญ ธุรกิจยางธรรมชาติอาจได้ประโยชน์จากยางสังเคราะห์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่แพงขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันแพงยังได้รับผลจากการที่เงินบาทอ่อนค่า และเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอีกด้วย ซึ่งทิศทางค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุระดับ 34.50 บาท/ดอลลาร์ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จากดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล และดุลการค้าที่เกินดุลลดลงอย่างมาก
นายอนุสรณ์ มองว่า มีความเสี่ยงมากขึ้นที่เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญภาวะ Stagflation คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เติบโตต่ำและเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาก สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่เผชิญอยู่เวลานี้ คือ รายได้ชะลอตัว หนี้สินท่วม ค่าครองชีพสูงขึ้น แถมยังว่างงานอีก จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องเร่งดำเนินการนโยบายเข้มงวดทางการเงินเพิ่มขึ้น หรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ เพราะช่องว่างการผลิต (Output Gap) ของเศรษฐกิจไทยยังติดลบค่อนข้างมาก มีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่จำนวนมาก
การใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลาย มีความจำเป็นต่อการประคับประคองการฟื้นตัวของการจ้างงาน และการกระเตื้องขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น เป็นปัญหาทางด้านอุปทานเป็นหลัก คือ ราคาพลังงานสูงขึ้น บาทอ่อนค่า และราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นจากน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรม ราคาสินค้าอุตสาหกรรมบางส่วนปรับตัวสูงขึ้นจากการขาดแคลนวัตถุดิบ การชะงันงักระบบจัดส่งและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาบางส่วนเกิดจากการหยุดดำเนินการผลิตของโรงงาน เกิดการการชงักงันของระบบจัดส่งโลจีสติกส์ จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดก่อนหน้านี้
“ภาวะ Stagflation ของเศรษฐกิจไทยอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณของ Excess Demand ใดๆ มีฟองสบู่อยู่บ้างในตลาดการเงิน และตลาดผลผลิตไม่มีเลย ตอนนี้มีแต่ Excess Supply อุปสงค์ขยายตัวต่ำกว่าระดับความสามารถการผลิตของประเทศ” นายอนุสรณ์ระบุ
สำหรับมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงงาน (กบง.) เพื่อควบคุมราคาน้ำมัน ด้วยการปรับลดการใช้น้ำมันปาล์มดิบผสมไบโอดีเซล จะส่งผลกระทบต่อราคาผลปาล์ม กระทบอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพ มาตรการนี้จะทำให้ความต้องการใช้ไบโอดีเซลลดลงเหลือเพียง 2-3 ล้านลิตรต่อวัน ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตพลังงานชีวภาพทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ และอาจทำให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยขาดทุนจากต้นทุนสต็อกที่สูง และต้องขายตามราคาที่รัฐบาลกำหนดใหม่ การแก้ปัญหาราคาไบโอดีเซลด้วยวิธีดังกล่าว จึงสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา และอาจทำให้กิจการไบโอดีเซลของไทยบางแห่งต้องหยุดกิจการไป
มาตรการช่วยเหลือประชาชน และธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้โดยการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันแบบขั้นบันได ใช้น้ำมันน้อยต้องเสียภาษีในอัตราต่ำกว่าใช้น้ำมันมาก ยิ่งใช้น้ำมันมากยิ่งเสียในอัตราสูง ยกเว้นสำหรับรถโดยสารมวลชน และรถขนส่งสินค้า
ส่วนการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน อุดหนุนราคานั้น ควรนำอัตราเงินเฟ้อมาพิจารณาเป็นเกณฑ์ร่วมกับระดับราคาน้ำมันที่ตั้งเป้าเข้าอุดหนุนราคา ดูที่ระดับที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคการผลิตและภาคขนส่ง เช่น ระดับราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 35 บาท/ลิตร หรือระดับของอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่า 4% ขึ้นไป สำรวจดูจะพบว่า ธุรกิจขนส่งคมนาคมกระทบหนักสุด อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เหมืองแร่ ก็จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ กระทบมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่า ใช้พลังงานและน้ำมันมากหรือน้อยในกระบวนการผลิตสินค้า ธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมเหล็ก กิจการเซรามิกส์ ต้นทุนก็จะเพิ่มสูงขึ้นมาก ส่วนที่ได้รับอานิสงค์ คือ ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ธุรกิจพลังงาน ขณะที่ธุรกิจการค้าไม่น่าจะกระทบมากนัก
นายอนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า แม้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ แต่เศรษฐกิจไทยยังมีอัตราการเติบโตได้ในระดับ 0.5-0.8% ส่วนปี 65 ยังมีความไม่แน่นอนสูง ต้องรอดูปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายนอก ภายในให้ชัดเจนก่อน และต้องรอดูว่าจะมีการเลือกตั้งและมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือไม่ แต่พอคาดการณ์ในเบื้องต้นได้ว่า เศรษฐกิจไม่น่าจะติดลบ ส่วนบวกแค่ไหนนั้นต้อง รอดูปัจจัยต่าง ๆ ให้ชัดเจนก่อน
“ค่อนข้างแน่ใจว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้า ก็ยังไม่สามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ (เศรษฐกิจไทยมี Potential GDP อยู่ที่ประมาณ 5-6% เติบโตได้ในระดับนี้โดยไม่มีเงินเฟ้อสูง) ผลผลิตที่เกิดขึ้นจริง (Actual GDP) ต่ำกว่าผลผลิตที่ระดับศักยภาพ (Potential GDP) ค่อนข้างมากมาร่วม 5-6 ปีแล้ว และมากขึ้นอีกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากวิกฤติเศรษฐกิจโควิด จึงมีกำลังผลิตส่วนเกิน ปัจจัยการผลิต และแรงงานไม่ได้ถูกใช้เต็มประสิทธิภาพ Output Gap หรือช่องว่างการผลิตของไทยจึงติดลบมากกว่าหลายประเทศในอาเซียน” นายอนุสรณ์ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ต.ค. 64)
Tags: lifestyle, Stagflation, ราคาน้ำมัน, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจถดถอย, เศรษฐกิจไทย