นักเศรษฐศาสตร์ชี้หากราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มขาขึ้น แต่รายได้ยังไม่กลับมา ห่วงไทยเผชิญภาวะ Stagflation กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แนะรัฐใช้มาตรการช่วยเหลือตรงจุด เลิกแจกเงิน เพราะไม่ใช่ทางแก้ที่ยังยืน แถมสร้างภาระงบประมาณ
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) เปิดเผยว่า การที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แต่รายได้ยังไม่กลับมา หลังจากประสบกับสถานการณ์โควิด-19 จึงเหมือนประเทศมี Supply Shocks เข้ามาในขณะที่ไม่มีดีมานด์ และหากมองถึงผลกระทบทางอ้อม การที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น ยังส่งผลให้ราคาพลังงานอื่น ๆ ปรับตัวขึ้นตามไปด้วย ทั้งราคาก๊าซหุงต้ม ก๊าซในภาคอุตสาหกรรม และราคาเคมีภัณฑ์ ในขณะที่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทางลบ แต่ภาคการส่งออกที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจน้ำมันกลับได้ประโยชน์
“ขณะนี้รายได้หดตัว ในขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตประจำวันสูงขึ้น เรียกว่าเป็นภาวะ Stagflation หรือเศรษฐกิจเติบโตไม่ดี แต่เงินเฟ้อสูง โดยหากราคาน้ำมันยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบกับเงินเฟ้อ ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยไทยจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ยาก และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามปกติไม่สามารถทำให้ไทยหลุดพ้นภาวะดังกล่าวได้ เพราะเป็นปัจจัยจากราคาน้ำมันดิบโลก ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือพยายามหลีกเลี่ยงภาวะ Stagflation ให้ได้” นายนริศ กล่าว
สำหรับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากสต็อกน้ำมันหายไป เนื่องจากผู้ผลิตประสบกับโควิดช็อค จึงเริ่มลดปริมาณสต็อกน้ำมัน เพราะการถือครองสต็อกน้ำมันไว้โดยไม่สามารถขายได้จะถือเป็นต้นทุนที่ค้างอยู่บนงบการเงิน (Balance sheet) ในขณะเดียวกันเมื่อเศรษฐกิจเริ่มกลับมา คนก็จะแห่กันมาเติมน้ำมันมากขึ้น เช่นเดียวกับเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 แล้วคนในสหรัฐฯ แห่ไปซื้อกระดาษชำระ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้สต็อกสินค้าไว้
ในส่วนของแนวโน้มราคาน้ำมัน ขณะนี้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง เนื่องจากปีที่แล้วมีฐานต่ำ จากช่วงที่โควิด-19 มีการระบาดหนัก ราคาน้ำมันจึงลงไปอยู่ที่ประมาณ 25-30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ขณะนี้ราคาอยู่ที่ประมาณ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล มองว่าราคาน้ำมันน่าจะอยู่ในระดับใกล้จุดพีค หรือไม่สูงไปมากกว่านี้แล้ว ทั้งนี้ ต้องติดตามว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (OPEC) จะมีการบริหารซัพพลายอย่างไร รวมทั้งขณะนี้หลายประเทศกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำมันสูงกว่าเดิม ดังนั้นหากจะมีการปรับราคาลง ก็จะสามารถลดลงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
“ราคาน้ำมัน คงไม่มีทางกลับไปถูกเหมือนปีที่แล้ว แต่อาจจะสามารถลงไปที่ประมาณ 70 เหรียญฯ/บาร์เรล ได้ ทั้งนี้เป็นไปได้ยากที่จะขึ้นไปถึง 100 เหรียญฯ/บาร์เรล หากไม่มีเหตุการณ์ Supply Shocks เกิดขึ้น เช่น เรือส่งน้ำมัน หรือท่อส่งน้ำมันมีปัญหา หรือกลุ่มโอเปกมีการปรับการผลิต ทั้งนี้ไทยควรหาวิธีบรรเทาปัญหาน้ำมันราคาแพง เช่น กองทุนน้ำมัน หรืออาจมีนโยบายปรับพลังงานทางเลือก เช่น นำแก๊ซโซฮอล์เข้ามาบับเบิ้ล เป็นต้น” นายนริศ กล่าว
ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต มองว่าหากแนวโน้มราคาน้ำมันในประเทศเป็นขาขึ้นจะส่งผลกระทบทำให้อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนภาคการผลิต การคมนาคมขนส่ง และค่าใช้จ่ายในครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เหมืองแร่ อุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ก็อาจได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าใช้พลังงานและน้ำมันมากน้อยเพียงใดในกระบวนการผลิตสินค้า
ทั้งนี้ ราคาพลังงานในตลาดโลกเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าช่วงปลายปีราคาน้ำมันน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 75-95 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่หากเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวดีต่อเนื่อง และกลุ่มโอเปกพลัสยังไม่เพิ่มกำลังการผลิตไปมากกว่าเดิม ก็มีโอกาสที่จะเห็นราคาน้ำมันสูงขึ้นไปแตะ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลได้ แต่คาดว่ากลุ่มโอเปกพลัสจะยังคงมติเดิมคือเพิ่มกำลังการผลิตเพียงวันละ 4 แสนล้านบาร์เรล ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ประเทศไนจีเรียยังประสบปัญหาเพิ่มกำลังการผลิตตามข้อตกลง จากราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้น หลายประเทศจึงลดการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า และหันมาใช้น้ำมันแทน ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอีก ขณะที่ จีน อาจปล่อยน้ำมันดิบคงคลังทางยุทธศาสตร์ประมาณ 33-82 ล้านบาร์เรล ซึ่งอาจช่วยบรรเทาการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันได้บ้าง เนื่องจากจีนมีสต็อกน้ำมันราคาต้นทุนที่ถูกกว่าราคาในตลาดโลกปัจจุบันประมาณ 5-10 ดอลลาร์โดยเฉลี่ย
ทั้งนี้ คาดว่าหลังกลางปีหน้า อุปทานในตลาดน้ำมันน่าจะเพิ่มขึ้น จากการคาดการณ์ว่าประเทศอิหร่านจะสามารถส่งออกน้ำมันได้ และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกต่ออิหร่านน่าจะยุติลง
นายอนุสรณ์ มองว่า ผลบวกของราคาน้ำมันต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยมีน้อยมาก เพราะไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงานและน้ำมันสุทธิจำนวนมาก ดังนั้น ผลประโยชน์จะเกิดต่อธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงานเท่านั้น เช่น ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ธุรกิจพลังงาน เป็นต้น นอกจากนี้ อาจมีผลบวกต่อสินค้าที่ใช้ทดแทนกัน สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบสำคัญ เช่น ธุรกิจยางธรรมชาติอาจได้ประโยชน์ยางสังเคราะห์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่แพงขึ้น นอกจากนี้ราคาน้ำมันแพง ยังได้รับผลจากการที่เงินบาทอ่อนค่า และเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอีกด้วย
“ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น จะทำให้อัตราเฟ้อไทยเร่งตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 4 นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจาก Supply Shocks ในภาคเกษตรกรรมจากปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 29 จังหวัด ดังนั้นจึงอาจจะเห็นอัตราเงินเฟ้อขึ้นไปแตะระดับ 2% ได้ เป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากแรงดันทางด้านต้นทุน และปัญหาทางด้านอุปทาน จึงไม่ใช่สัญญาณดีว่าเศรษฐกิจดีขึ้น อุปสงค์เพิ่มขึ้น แล้วเงินเฟ้อสูงขึ้น” นายอนุสรณ์ ระบุ
ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลควรนำมาใช้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ ต้องเน้นที่นโยบาย หรือมาตรการที่สร้างงาน สร้างรายได้ และลดการแจกเงินเยียวยา เพราะเป็นมาตรการที่ไม่ยั่งยืน และจะทำให้เป็นภาระทางงบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ
นายอนุสรณ์ ยังประเมินด้วยว่าเศรษฐกิจไทยในปี 64 จะขยายตัวได้ไม่เกิน 1% โดยช่วงที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ 0.5-0.8% ส่วนปี 65 ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงขอรอดูปัจจัยทั้งภายนอกประเทศ และภายในประเทศให้ชัดเจนก่อน นอกจากนี้ต้องรอดูว่าจะมีการเลือกตั้งและมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือไม่
“สามารถคาดการณ์เบื้องต้นได้ว่าเศรษฐกิจไม่ติดลบ เนื่องจากมั่นใจว่า Potential GDP ของเศรษฐกิจไทยปีหน้าก็ยังไม่สามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ โดยเศรษฐกิจไทยมี Potential GDP อยู่ที่ประมาณ 5-6% ซึ่งการเติบโตในระดับนี้ ต้องไม่มีเงินเฟ้อสูง” นายอนุสรณ์ ระบุ
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันเป็นหลัก ดังนั้นการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นนั้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งในแง่เงินเฟ้อ และการชะลอตัวของภาคการผลิต จากต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ และสาธารณูปโภคที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ดุลการชำระเงินก็มีสิทธิที่จะได้ดุลน้อยลง เนื่องจากประชาชนต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น
ทั้งนี้ หากภาคการผลิตชะลอตัว อาจส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศ โดยไทยอาจไม่สามารถทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ หรืออาจมีการปรับเป้าลงได้ อย่างไรก็ดี ย่อมขึ้นอยู่กับนโยบายการสนับสนุน และช่วยเหลือของภาครัฐ หากสามารถประคองสถานการณ์ได้ดี ก็จะส่งผลกระทบน้อยลงไปตามลำดับ
ในส่วนของปัจจัยที่ส่งผลให้น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น มาจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มกลับมาดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย หลังมีมาตรการครอบคลุม และการฉีดวัคซีนที่ทั่วถึง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันกลับมามีมากขึ้น อย่างไรก็ดี แนวโน้มราคาน้ำมันหลังจากนี้อาจมีช่วงพีคในระยะหนึ่ง และคาดว่าระยะสั้น อาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ได้ แต่ในระยะยาว อาจจะมีการปรับลงมาบ้าง เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เริ่มมีการพัฒนามากขึ้น ทำให้แนวโน้มการใช้น้ำมันในอนาคตอาจลดลง
“การแก้ปัญหาน้ำมันราคาสูง คือต้องประหยัดการใช้น้ำมัน และอาจนำเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาใช้ทดแทน โดยเฉพาะพลังงานทดแทนยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐควรคำนึงถึง” ประธาน ส.อ.ท. กล่าว
ประธาน ส.อ.ท. ยังได้กล่าวถึงผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยว่า น้ำท่วมในปีนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้รัฐต้องใช้งบประมาณในการช่วยเหลือ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบหนัก ซึ่งอาจเกิดความเสียหายซัพพลายทางการเกษตรได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบในด้านโลจิสติกส์ที่ภายหลังน้ำท่วมอาจต้องมีการใช้งบประมาณในการซ่อมแซมด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ต.ค. 64)
Tags: ttb analytics, นริศ สถาผลเดชา, พลังงาน, ราคาน้ำมัน, ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สุพันธุ์ มงคลสุธี, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจไทย