ทริสฯ จัดอันดับเครดิตองค์กร EGCO ที่ AA+ แนวโน้ม Stable

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ที่ระดับ “AA+” พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าชั้นนำของประเทศไทย ผลงานที่ดีเยี่ยม และการลงทุนที่มีความหลากหลาย นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ของบริษัทจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวก็ถูกลดทอนลงจากสภาวะแวดล้อมที่ท้าทายมากยิ่งขึ้นในธุรกิจผลิตไฟฟ้าและระดับการก่อหนี้ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเพื่อสนับสนุนแผนการเติบโตในระยะยาวของบริษัท

ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งที่เห็นว่าบริษัทเป็นบริษัทในเครือที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับปานกลาง (Strategic Affiliate) ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (หรือ กฟผ. ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “AAA/Stable” จากทริสเรทติ้ง) โดยอันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่มขึ้น 1 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Stand-alone Credit Profile) ซึ่งอยู่ที่ระดับ “aa” เพื่อสะท้อนถึงการสนับสนุนจาก กฟผ.

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

– มีสถานะเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้า บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเมื่อคิดตามสัดส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ขนาด 6,016 เมกะวัตต์ โดยประมาณ 5,695 เมกะวัตต์มาจากโรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานแล้ว ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทครอบคลุมตั้งแต่โรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม (Conventional Power Plant) ไปจนถึงโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานทดแทนหลายประเภท

บริษัทเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายแรกของประเทศที่มีผลงานยาวนานในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าหลากหลายประเภท บริษัทมีความสามารถในระดับสูงในการบริหารจัดการโครงการ โดยโครงการส่วนใหญ่ของบริษัทนั้นมีประวัติในการก่อสร้างที่แล้วเสร็จทันตามกำหนดและอยู่ในกรอบงบประมาณที่ตั้งไว้ และโดยทั่วไปแล้ว โรงไฟฟ้าของบริษัทสามารถดำเนินการได้ตามข้อกำหนดต่าง ๆ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เช่น ความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าและค่าความร้อน เป็นต้น

บริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าเพื่อต่อยอดโดยได้ตั้ง บริษัท เอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เพื่อให้บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าภายในกลุ่มบริษัทและบริษัทอื่น ๆ นอกกลุ่ม

– การลงทุนมีความหลากหลายทั้งในด้านของประเภทการผลิต ชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ และทำเลที่ตั้ง ซึ่งความหลากหลายดังกล่าวช่วยให้รายได้และกำไรของบริษัทมีความมั่นคงเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินงานแล้วจำนวน 29 แห่งผ่านการดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทในเครือ ขณะที่ไม่มีโรงไฟฟ้าใดที่มีกำลังการผลิตเกินกว่า 20% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงจากการกระจุกตัวที่อยู่ในระดับต่ำ

โรงไฟฟ้าของบริษัทใช้พลังงานในการผลิตไฟฟ้าที่ครอบคลุมหลากหลายประเภท โดยโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมนั้นใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงซึ่งคิดเป็นสัดส่วนหลักที่ประมาณ 77% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดของบริษัท

ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำ พลังลม พลังแสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ ชีวมวล และเซลล์เชื้อเพลิงนั้นคิดเป็นส้ดส่วนที่เหลือ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซยังคงเป็นการลงทุนหลักของบริษัทซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 55% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดของบริษัท บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนในการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นเพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มด้านพลังงานของโลก

โรงไฟฟ้าของบริษัทตั้งอยู่ใน 8 ประเทศ โดยโรงไฟฟ้าในประเทศคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดของบริษัท ในขณะที่โรงไฟฟ้าในต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคิดเป็นสัดส่วนที่เหลือ

– มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว โดยสามารถคาดการณ์กระแสเงินสดได้ในระดับสูงเนื่องจากโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัท (ประมาณ 80% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนทั้งหมด) มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 15-30 ปี โรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นสินทรัพย์ในการดำเนินงานหลักของบริษัทนั้นมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีกลไกในการชดเชยเงินลงทุนและส่งผ่านต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ทำให้ช่วยบรรเทาความเสี่ยงในด้านการตลาดและด้านราคาเชื้อเพลิง

ในการนี้ หากโรงไฟฟ้าสามารถดำเนินการได้ตามข้อกำหนดต่าง ๆ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เช่น ความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้า บริษัทก็จะได้รับชำระเงินตามที่ระบุไว้ในสัญญาไม่ว่าผู้ซื้อจะสั่งจ่ายไฟฟ้าหรือไม่ก็ตาม ในขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าดังกล่าวยังสามารถโอนภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงไปให้แก่ผู้ซื้อไฟฟ้าได้เต็มจำนวนตราบเท่าที่โรงไฟฟ้ายังคงดำรงค่าความร้อนได้ตามที่ตกลงกันในสัญญาอีกด้วย

บริษัททำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับผู้ซื้อไฟฟ้าที่มีความน่าเชื่อถือซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าบริษัทจะได้รับชำระเงินตามกำหนดเวลาโดยมีความเสี่ยงของการไม่ได้รับชำระค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในปัจจุบันนั้น กฟผ. เป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของบริษัทโดยมีสัดส่วนประมาณ 57% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท ซึ่ง กฟผ. ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “AAA” โดยทริสเรทติ้ง ส่วนผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่อันดับสองคือ Manila Electric Company (Meralco) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จำหน่ายไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในประเทศฟิลิปปินส์ มีสัดส่วนประมาณ 11%

– เป็นบริษัทในเครือที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับปานกลางของ กฟผ. ทริสเรทติ้งพิจารณาว่าบริษัทเป็นบริษัทในเครือที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับปานกลางของ กฟผ. ทั้งนี้ บริษัทได้แยกตัวออกมาจาก กฟผ. เพื่อทำหน้าที่เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) ในการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. และผู้ซื้อไฟฟ้ารายอื่น ๆ โดย กฟผ. ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนับตั้งแต่การแยกตัวออกมาและมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อทิศทางธุรกิจของบริษัท ในขณะเดียวกัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทก็มักเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากผู้บริหารระดับสูงของ กฟผ. และกรรมการจำนวน 5 คนจากทั้งหมด 15 คนของบริษัทก็ยังได้รับการแต่งตั้งจาก กฟผ. อีกด้วย นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเกิดจากพันธะสัญญาระยะยาวในการจำหน่ายไฟฟ้าและการประสานพลังทางธุรกิจ โดยจะเห็นได้ว่าโอกาสในการลงทุนต่าง ๆ ก็ยังถูกริเริ่มจาก กฟผ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐต่าง ๆ

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังมีสถานะเป็นบริษัทในเครือที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับปานกลางของ กฟผ. ในระยะยาวต่อไป อีกทั้งยังเชื่อว่า กฟผ. จะมีความมุ่งมั่นรวมถึงมีความสามารถทางการเงินในการที่จะให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทหากมีความจำเป็น ซึ่งจากความเชื่อมโยงระหว่างกันและความเป็นไปได้ที่บริษัทจะได้รับการสนับสนุนจาก กฟผ. ในเวลาที่จำเป็นดังกล่าวนี้จึงทำให้ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทขึ้น 1 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะ

– สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าภายในประเทศมีความท้าทายมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยการแข่งขันเริ่มทวีความเข้มข้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากนโยบายเปิดเสรีของภาครัฐเพื่อให้มีการแข่งขันด้านต้นทุนค่าไฟฟ้าซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า บริษัทเอกชนต่าง ๆ ตั้งแต่บริษัทขนาดเล็กไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ได้ขยายธุรกิจเข้าสู่การผลิตไฟฟ้า โดยผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กได้รับอนุญาตให้จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ซื้อได้โดยตรง เมื่อมองถึงอนาคตข้างหน้า รูปแบบใหม่ในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจะเปิดโอกาสให้มีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างบ้านเรือนด้วยกันเองหรือระหว่างโรงไฟฟ้าและบ้านเรือนในที่สุด

ในขณะที่ทริสเรทติ้งคาดว่าอุปสงค์ในการใช้ไฟฟ้าจะเติบโตเพียงเล็กน้อยจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างเชื่องช้าจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) นั้น ประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญกับกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองส่วนเกินจำนวนมาก จึงมีความเป็นไปได้สูงที่อาจจะไม่มีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศไทยในช่วงหลายปีข้างหน้า

นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน เช่น ระบบกักเก็บพลังงานและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการด้านพลังงานจะส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดเล็กและครัวเรือนสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองหรือเพื่อการค้าได้ ในทางตรงกันข้าม การผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ก็กลายมาเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่จากความเป็นไปได้ว่าอุปสงค์ในการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะลดต่ำลง โดยทริสเรทติ้งเริ่มเห็นว่าผู้ผลิตไฟฟ้าไทยหลายรายมีแนวโน้มที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นอันเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ อาทิ แรงจูงใจด้านอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ลดต่ำลง การแข่งขันประมูลโครงการใหม่ ๆ ที่เข้มข้นรุนแรง ความล่าช้าอย่างต่อเนื่องของโครงการภาครัฐ และอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดต่ำลง เป็นต้น

– ความเสี่ยงต่าง ๆ จากโครงการในต่างประเทศ ด้วยโอกาสที่มีจำกัดของโครงการโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมในประเทศ บริษัทจึงได้หันไปเน้นการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ อาจไม่มีกลไกในการชดเชยเงินลงทุนและส่งผ่านต้นทุนค่าเชื้อเพลิง การลงทุนในอนาคตจึงมีความเสี่ยงด้านตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น

แม้การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศจะช่วยเพิ่มฐานรายได้ แต่ก็ทำให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงของประเทศที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากความโปร่งใสและความต่อเนื่องของกฎระเบียบในบางประเทศที่อาจต่ำกว่า ตลอดจนความเสี่ยงจากผู้ซื้อไฟฟ้า และความท้าทายในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ในขณะเดียวกัน โครงการในประเทศที่พัฒนามากกว่าก็มีความท้าทายในด้านอื่นแม้จะมีความเสี่ยงของประเทศและความเสี่ยงด้านกฎระเบียบในระดับที่ต่ำกว่าก็ตาม ตัวอย่างเช่นโรงไฟฟ้าของบริษัทในประเทศเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาที่จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ตลาดค้าส่งโดยไม่มีสัญญาซื้อขายไฟระยะยาว ความผันผวนของอุปสงค์ในการใช้ไฟฟ้าและราคาจำหน่ายไฟฟ้าอาจทำให้รายได้และกำไรมีความไม่แน่นอนได้

ทั้งนี้ ภายใต้รูปแบบการประมูลราคาไฟฟ้านั้น โครงการเหล่านี้จำเป็นจะต้องรักษาต้นทุนการดำเนินงานและต้นทุนเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อให้ได้รับการสั่งจ่ายไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าซึ่งครอบคลุมต้นทุนคงที่ของโรงไฟฟ้าในระดับที่มีนัยสำคัญก็ช่วยลดความผันผวนของกำไรลงได้ ณ ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าของบริษัทที่จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ตลาดซื้อขายไฟฟ้ามีสัดส่วนเกือบ 20% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท

บริษัทมีความเสี่ยงจากความล่าช้าและต้นทุนโครงการที่อาจสูงกว่าคาดในบางโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังคงยีดเยื้อ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าขั้นตอนการลงทุนที่มีความรัดกุมของบริษัทและพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งจะช่วยให้สามารถเข้าใจและจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนของบริษัทได้ในระดับหนึ่ง

– การขยายสู่ธุรกิจใหม่ สืบเนื่องจากกลยุทธ์ที่จะขยายไปสู่ธุรกิจอื่น บริษัทจึงได้เริ่มลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ การขนส่งน้ำมันทางท่อ นิคมอุตสาหกรรม และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนจะลงทุนในธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานอีกด้วย ในความเห็นของทริสเรทติ้ง ธุรกิจใหม่เหล่านี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาและมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทและไม่น่าจะมีผลกระทบที่มีสาระสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

-ระดับการก่อหนี้คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับการก่อหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากบริษัทยังคงแสวงหาโอกาสในการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อขยายการลงทุนและทดแทนกำลังการผลิตในปัจจุบันที่จะหยุดดำเนินงานในอนาคต ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนจำนวน 1.4-1.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในการพัฒนาโครงการที่อยู่ในแผนให้แล้วเสร็จรวมถึงการซื้อโครงการใหม่ ๆ ในระยะ 3 ปีข้างหน้า

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะอยู่ที่ 3.5-3.8 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่จำนวน 1.6-1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี ในขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้รวมของบริษัทคาดว่าจะยังคงอยู่ที่ระดับ 40%-50%

ในกรณีที่ไม่มีการเพิ่มทุนนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทน่าจะอยู่ในช่วง 4-5 เท่าในระหว่างปี 2564-2566 โดยเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำที่ 2.7 เท่าในปี 2562 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 42%

-โครงสร้างหนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2564 หนี้เงินกู้รวมของบริษัทมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งในเบื้องต้นนั้นจำนวน 6.07 หมื่นล้านบาทถือเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) ประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัทและหนี้ทั้งหมดของบริษัทย่อย ทำให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 61% ซึ่งส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันอาจมีความด้อยสิทธิ์กว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนเมื่อพิจารณาจากสิทธิ์เรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท

– มีสภาพคล่องที่แข็งแรง บริษัทมีสภาพคล่องที่แข็งแรง โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีเงินสดในมือและวงเงินกู้จากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมกันประมาณ 2.47 หมื่นล้านบาท ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานในระยะ 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่จำนวน 1.11 หมื่นล้านบาท แหล่งที่มาของเงินสดรวมทั้งหมดจึงอยู่ที่จำนวน 3.58 หมื่นล้านบาทซึ่งสามารถรองรับหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในระยะ 12 เดือนข้างหน้าที่จำนวนรวม 2.09 หมื่นล้านบาทได้

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

– รายได้จากการดำเนินงานรวมจะอยู่ในช่วง 3.5-3.8 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2564-2566

– อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้รวมจะอยู่ในช่วง 40%-50%

– เงินปันผลรับจากการลงทุนในบริษัทในเครือจะอยู่ในช่วง 5-7 พันล้านบาทต่อปี

– ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนจะอยู่ในช่วง 1.4-1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี

– เงินปันผลจ่ายจะอยู่ที่ปีละ 6.5-6.75 บาทต่อหุ้น

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและมั่นคง ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะเติบโตอย่างระมัดระวังโดยไม่ก่อหนี้มากจนเกินไป อีกทั้งบริษัทจะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจจากการลงทุนใหม่ ๆ โดยมีระดับกระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้สินและระดับการก่อหนี้ที่สอดคล้องกับคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะยังคงสถานะเป็นบริษัทในเครือที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับปานกลางของ กฟผ. ต่อไป

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครติดอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดให้สูงขึ้นในขณะที่ระดับการก่อหนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับปัจจุบัน ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของสินทรัพย์เพื่อการผลิตไฟฟ้าของบริษัทนั้นต่ำกว่าการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งอย่างมากหรือหากสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจเกิดจากการลงทุนด้วยการก่อหนี้จำนวนมากและ/หรือความล่าช้าอย่างมากของโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา นอกจากนี้ การปรับลดอันดับเครดิตของ กฟผ. ก็อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้ด้วยเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ต.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top