นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวในการสัมมนา “เจาะลึกกลยุทธ์การลงทุนสินทรัพย์ทั่วโลก และชี้เศรษฐกิจโอกาสลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Transformation ที่น่าจับตา” ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจที่แตกต่างกันของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังจะนำไปสู่การทำนโยบายเศรษฐกิจทั้งทางด้านการเงินและการคลังที่แตกต่างกัน รวมทั้งการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเริ่มแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น
ประเทศในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และอังกฤษ เริ่มส่งสัญญาณถอนคันเร่งนโยบายการเงิน โดยชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE tapering) และเริ่มมองแนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามความพร้อมของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ Emerging markets ผ่านต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และความผันผวนของกระแสเงินทุน
สำหรับนโยบายการคลังที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมามีต้นทุนสูงสะท้อนจากหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นค่อนข้างเร็วในหลายประเทศ และอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น แม้จะเป็นปัจจัยชั่วคราว แต่น่าจะใช้เวลาพอสมควรในการชะลอลง
การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วในระยะข้างหน้าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรแท้จริง (Real yields) จะยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับในอดีต ส่งผลกระทบต่อมูลค่าหุ้นกลุ่ม Quality growth อยู่ในระดับที่จัดการได้ และยังได้รับแรงหนุนจากกระแสแนวโน้มธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19
โดยความเสี่ยงหลักของหุ้นกลุ่ม Quality growth คือ ผลกระทบจากการขึ้นภาษี และการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ภาครัฐ (Regulatory risks) แต่คาดว่าการขึ้นภาษีของภาครัฐ เช่น ในกรณีของสหรัฐฯ อาจทำได้ไม่มากเท่ากับที่ประกาศไว้เนื่องจากการทำมาตรการโครงสร้างพื้นฐานอาจมีการลดขนาดให้เล็กลง
สำหรับหุ้นกลุ่มอื่นเชื่อว่าการมีหุ้นในกลุ่ม Value ยังเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเป็นการป้องกันความผันผวนในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีการขยับขึ้นเร็ว
นายกำพล กล่าวว่า จากความแตกต่างของการฟื้นตัวและนโยบายของประเทศต่าง ๆ ทำให้มองว่าด้านการลงทุนในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ดีหรือหดตัวน้อยในช่วงวิกฤติมีความน่าสนใจ เนื่องจากการฟื้นตัวของกำไรและความสามารถในการทำกำไรในระยะข้างหน้าของบริษัทจดทะเบียนก็ดีกว่าตามไปด้วย
โดยในช่วงที่ภาวะตลาดผันผวนถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าสะสมหุ้นกลุ่มสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม Quality growth ที่ยังมีผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชียจะเป็น ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ที่มีความน่าสนใจ จากแนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ และราคาหุ้นไม่แพงเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ
ส่วนการลงทุนในจีน ยังคงมุมมองตลาดหุ้น A-Share ที่ neutral จากนโยบายมุ่งเน้นเติบโตจากภายในประเทศของจีน เช่น นโยบาย dual circulation และ common prosperity และคงมุมมองตลาดหุ้นจีน H- Share ที่ slightly negative เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ของรัฐที่มีแนวโน้มยืดเยื้ออยู่ค่อนข้างมาก
ตลาดหุ้นอาเซียนมองว่าเวียดนามยังคงน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจและผลประกอบการ จะชะลอลงในช่วงไตรมาส 3/64 ติดลบสูงถึง 6% แต่ตลาดหุ้นได้สะท้อนการรับรู้ไปบ้างแล้ว โดยในระยะข้างหน้าคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะมีการฟื้นตัวได้ของภาคการส่งออกตามเศรษฐกิจโลก และความคืบหน้าในการนำเข้าและฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงต่อสายพันธุ์เดลต้า ทำให้การเปิดเมืองและกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาได้
ส่วนตลาดหุ้นไทย มองเป็น slightly negative จากแนวโน้มการฟื้นตัวของกำไรที่เสี่ยงถูกปรับลดลง และความตึงตัวของ valuation เมื่อเทียบกับตลาดอาเซียนอื่น ด้านราคาน้ำมัน ปรับมุมมองเป็น Neutral จากการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมัน ซึ่งได้อานิสงค์จากการเปิดเมือง และแนวโน้มการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศพัฒนาแล้วดีขึ้น รวมถึงการหันมาใช้น้ำมันมากขึ้นทดแทนก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีมุมมอง slightly negative สำหรับทองคำที่จะได้รับผลกระทบจาก QE tapering และอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร (real yields) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และสำหรับ Asian REITs ที่การปิดเมืองมีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้
นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (CIO) SCB กล่าว่า โอกาสในการลงทุนในอนาคตมองว่ากลุ่มธุรกิจที่เป็น Transformation ซึ่งมี 3 กลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจ ที่มาพร้อมการเติบโตของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่
– ธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน (Fintech) จากกระแสเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology) ที่กำลังมีความสำคัญขึ้นในทุกองค์กรทั่วโลก และกระแส Digital Transformation ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ถูกเร่งกระบวนการขึ้นหลังเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และเทรนด์การลงทุนใน Fintech กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นทั่วโลก ทำให้กระแสการลงทุนในบริษัท Fintech ใน Centralized และ Decentralized Finance เติบโตอย่างรวดเร็ว
โดยมองว่าการขยายตัวของกระแส Fintech ที่ครอบคลุมและต่อยอดออกไปในหลายอุตสาหกรรม และการมาถึงของ Decentralized Finance การขยายตัวของบริษัทแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจะทำให้รูปแบบธุรกิจการเงินเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากในอดีต และเปิดโอกาสการลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Fintech และ Blockchain ได้อย่างมาก
– ธุรกิจด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ในยุคที่หน่วยงานมีการเชื่อมโยงระหว่างกันและมีปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ความปลอดภัยด้านไซเบอร์เป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่สำคัญมากขึ้น การใช้งานอินเตอร์เน็ตและระบบออนไลน์เป็นไปอย่างแพร่หลายในทุกองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทที่มีสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่สำคัญ เช่น แบรนด์ ความสัมพันธ์กับลูกค้า นวัตกรรม และข้อมูลความลับทางการค้า ซึ่งผลกระทบด้านลบจากการถูกละเมิดและการโจมตีทางไซเบอร์จะส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของบริษัทโดยตรง และมองว่าการเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของบริษัทและองค์กรทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งในโอกาสการลงทุนในบริษัทที่กำลังเติบโตและเป็นผู้นำด้านการรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีไซเบอร์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสหรือมัลแวร์ (Anti-Virus/Anti-Malware) การยืนยันตัวตน (Authentication) และการเข้ารหัสข้อมูล (Encryption)
– ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและรถยนต์ไฟฟ้าและการกักเก็บพลังงาน (Renewable Energy & EV & Energy Storage) จากกระแสการลดภาวะโลกร้อนสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์สันดาปเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ทั่วโลก รวมถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนแทนการใช้พลังงานจากน้ำมันและถ่านหิน ก่อให้เกิดการเติบโตในหลายอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งในส่วนของการผลิตแบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิตและการกักเก็บพลังงงานหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ฯลฯ ซึ่งสร้างโอกาสการลงทุนอย่างมากในมุมของห่วงโซ่การผลิตในธุรกิจ EV & Energy Storage
โดยเฉพาะในบริษัทที่มีนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านพลังงาน SCB CIO มองว่า นอกจากเทรนด์การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนแล้ว เทรนด์ธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจ ได้แก่ ธุรกิจผู้ให้บริการเกี่ยวกับระบบกักเก็บพลังงานและแบตเตอรี่ (Energy Storage System Integrator: ESS) สำหรับการใช้พลังงานทางเลือกซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหลายประเทศ เช่น การใช้งานแบตเตอรี่ร่วมกับพลังงานหมุนเวียน การใช้ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าเพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบสายส่ง เป็นต้น รวมถึงโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (Battery Manufacturing) เพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานให้เติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเทรนด์การลงทุนในอนาคตที่รองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโดยมุ่งหน้าสู่การลดการใช้ทรัพยากรและเป็นมิตรกับธรรมชาติ
นายศรชัย กล่าวว่า การลงทุนในระยะยาวสำหรับหุ้นใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม Transformation มองว่าการคัดเลือกบริษัทที่เป็นผู้นำในกลุ่มจะมีแนวโน้มสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่น่าพอใจให้กับนักลงทุนได้ จากการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ยังสูงต่อเนื่องในอนาคต
นอกจากนี้ การลงทุนหุ้นในกลุ่ม ESG (Environmental, Social, and Governance) ที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เป็นอีกธีมการลงทุนยอดนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งแกนในการพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่เข้าลงทุนควบคู่ไปกับ 3 เทรนด์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตข้างต้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะในตลาดหุ้น ผู้ลงทุนต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาดหุ้นค่อนข้างมาก แต่ตามสถิติหุ้นในกลุ่ม ESG ค่อนข้างจะเผชิญความผันผวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นทั่วไปในตลาด และมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าหลังจากผ่านพ้นช่วงตลาดปรับฐาน
“การลงทุนในบริษัทที่คำนึงถึงมาตรฐาน ESG เปรียบเสมือนการลงทุนในบริษัทที่ต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อรักษามาตรฐานอยู่ตลอด สะท้อนการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและนักลงทุน และมีความเสี่ยงโดยรวมต่อประเด็นการผิดจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจค่อนข้างน้อย การลงทุนที่ยั่งยืนโดยคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG จึงมีแนวโน้มสามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเกณฑ์อ้างอิงที่ใช้เปรียบเทียบผลตอบแทนของตลาดโดยรวมได้ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เม็ดเงินการลงทุนหุ้นในธีม ESG มีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่องทั้งในปัจจุบันและอนาคต” นายศรชัย กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ต.ค. 64)
Tags: การลงทุน, กำพล อดิเรกสมบัติ, ธนาคารไทยพาณิชย์, พันธบัตร, ศรชัย สุเนต์ตา, สินทรัพย์, หุ้น, หุ้น ESG