นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมแนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเริ่มลดลง แต่ทิศทางการระบาดของไทยขณะนี้อยู่ตรงทางแยก เนื่องจากประสิทธิผลของการคลายล็อกดาวน์หมดลงแล้ว หากมีมาตรการเข้มข้นก็จะสามารถลดการแพร่ระบาดลงไปเรื่อยๆ ได้ แต่หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จำนวนผู้ติดเชื้ออาจจะมากขึ้นตามการพยากรณ์ ที่คาดไว้ว่าจะขึ้นไปแตะถึง 3 หมื่นรายต่อวัน
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ 4 มาตรการหลัก ที่ต้องปฎิตามอย่างเคร่งครัด คือ 1. เร่งสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 2. ประชาชนต้องปฎิบัติตาม Universal Prevention (UP) สวมหน้ากากอนามัยอย่างสม่ำเสมอ และให้ระวังไว้เสมอว่าทุกคนมีเชื้อโควิด-19 ในตัว 3. สร้างความมั่นใจด้วยการนำชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) มาใช้ให้มากขึ้น 4. การใช้มาตรการ Covid Free Setting รักษาความสะอาด เว้นระยะห่างในพื้นที่แออัด เช่น ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ การประชุมต่างๆ ทั้งนี้ไม่ใช่มาตรการบังคับ แต่เป็นมาตรการเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมมือในการปฎิบัติตาม เพื่อให้สามารถดำเนินการตามเป้าหมายที่รัฐตั้งไว้ว่า จะมีการเปิดประเทศในเดือนพ.ย.-ธ.ค. 64 ได้
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มเห็นผู้ติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจน แต่ทางภาคใต้ของประเทศยังคงมีผู้ติดเชื้ออยู่จำนวนมาก โดยมีการระบาดทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ อัลฟา เดลตา และเบตา ทั้งนี้ ได้มีการควบคุมป้องกันโรคด้วยการใช้มาตรการ Universal Prevention และจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติม พร้อมการรักษาพยาบาลให้ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าอีก 1 เดือน สถานการณ์แพร่ระบาดทางภาคใต้จะสามารถคลี่คลายลงได้
ส่วนการคาดการณ์การฉีดวัคซีน ในช่วงสิ้นเดือนต.ค. จะสามารถฉีดวัคซีนครอบคลุมเข็ม 1 ที่ 61% และเข็ม 2 ที่ 37% โดยในเดือนพ.ย. จะสามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมเทียบเท่ามาตรฐานโลก คือครอบคลุมเข็ม 1 ที่ 75% และเข็ม 2 ที่ 55% และในเดือนธ.ค. จะสามารถฉีดวัคซีนครอบคลุมเข็ม 1 ที่ 85% และเข็ม 2 ที่ 70% ซึ่งถือว่าสามารถครอบคลุมประชากรส่วนมากในประเทศแล้ว
ด้าน นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า มาตรการ Universal Prevention (UP) หรือการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด ที่ทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้ โดยจากการสำรวจพฤติกรรมการปฎิบัติตนตามมาตรการ UP ตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.-17 ก.ย. 64 จำนวน 5,978 ราย พบว่า มีการปฎิบัติตาม UP ในภาพรวมที่ 44.11% ซึ่งส่วนใหญ่มีการปฎิบัติได้ดี ทั้งการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ การล้างมือ การแยกของใช้ส่วนตัว เว้นระยะห่าง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี พบว่า การสวมหน้ากากเมื่ออยู่กับคนในบ้าน ยังอยู่ในสัดส่วนน้อยที่ 65.98% ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนหนึ่งมาจากการติดเชื้อภายในบ้าน ดังนั้นขอความร่วมมือในการปฎิบัติตาม UP ให้มากขึ้น โดยให้คิดเสมอว่าทุกคนมีเชื้อโควิด-19 อยู่ในตัว
– มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) ในการจัดพิธีศพ
มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ คือ งดการประกอบอาหาร และรับประทานอาหารร่วมกัน จัดอาหารและเครื่องดื่มแยกเฉพาะบุคคล และหลีกเลี่ยงการจัดมหรสพ งดการเล่นพนัน หรือกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนทุกชนิด รวมทั้งกำหนดระยะวันเวลาจัดงานเท่าที่จำเป็น
นอกจากนี้ ต้องให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร ตลอดการจัดงาน และจัดมีการระบายอากาศในอาคารอย่างเหมาะสม เช่น ให้เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อระบายอากาศ ส่วนในกรณีที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ควรดำเนินพิธีทางศาสนาเผาหรือฝังศพ ให้เสร็จสิ้นภายใน 24 ชั่วโมง และห้ามเปิดถุงบรรจุศพ
ส่วนมาตรการด้านผู้ให้บริการ พระสงฆ์ และบุคลากรภายในศาสนสถาน ควรได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือตรวจ ATK และบุคลากรทุกคนคัดกรองความเสี่ยง อุณหภูมิ และอาการของระบบทางเดินหายใจทุกวัน รวมทั้งมีผู้รับผิดชอบ กำกับ ติดตาม การปฏิบัติตามมาตรการโดยเคร่งครัด งดรวมกลุ่มขณะปฏิบัติงาน หรือร่วมพิธีกรรม
ในส่วนของมาตรการด้านผู้รับบริการ สำหรับศาสนาพุทธ ต้องปฏิบัติตามมติเถรสมาคม เรื่องแนวปฏิบัติการจัดพิธีการศพในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่วนศาสนาอิสลาม ต้องปฏิบัติตามประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่องการจัดการศพผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั้งนี้ ศาสนสถานต้องทำการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid Plus (TSC+) และให้ผู้เข้าร่วมงานประเมินตนเองผ่าน Thai Save Thai (TST) หรือแอปพลิเคชันอื่นๆ โดยเคร่งครัด
– มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) ในการจัดงานแต่งงาน
มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ คือ เน้นเฉพาะกิจกรรมที่สำคัญ และใช้ระยะเวลาในการจัดงานให้สั้นที่สุด และจัดงานแต่งขนาดเล็ก หรือเชิญผู้เข้าร่วมงานเฉพาะผู้ใกล้ชิดหรือญาติพี่น้อง (อาจใช้ระบบออนไลน์ เพื่อให้คนเข้ามาร่วมแสดงความยินดีผ่านออนไลน์เพิ่ม) นอกจากนี้ ต้องเว้นระยะห่างที่นั่ง โต๊ะ อย่างน้อย 1 เมตร และเว้นระยะห่างของผู้เข้าร่วมงานช่วงพิธีรดน้ำสังข์ แห่ขันหมาก พิธีสงฆ์ และงดกิจกรรมการแสดงดนตรี เต้นรำ งานเลี้ยง หรือกิจกรรมที่ต้องตะโกน รวมตัวจำนวนมาก
ทั้งนี้ ผู้จัดงานต้องทำการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid 2 Plus (TSC2+) และเลือกสถานที่จัดงานที่ผ่านมาตรฐาน TSC+, มาตรการ SHA+ (Amazing Thailand Safety and Health Administration Plus), มาตรการ TMVS (Thailand MICE Venue Standard) หรือมาตรการ 2HY (Hygiene and Hybrid)
มาตรการด้านผู้ให้บริการ คือ ผู้จัดงานทุกคนต้องฉีดวัคซีนครบโดส หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อโควิดมาก่อนอยู่ในช่วง 1-3 เดือน หรือคัดกรองความเสี่ยงพนักงาน ผู้จัดงานทุกวัน ด้วย TST หรือแอปพลิเคชันอื่นๆ หรือจัดหา ATK ให้พนักงาน หรือตรวจก่อนปฏิบัติงาน มีผลให้พบเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง นอกจากนี้ ต้องกำหนดโซนปฏิบัติงานให้ชัดเจน งดรวมกลุ่มขณะปฏิบัติงาน หรือระหว่างพัก รวมทั้งมีผู้รับผิดชอบกำกับติดตามพนักงานทุกคน
ในส่วนของมาตรการด้านผู้รับบริการ คือ ต้องคัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าร่วมงาน ด้วย TST หรือแอปพลิเคชั่นอื่นๆ และมีการกำกับให้ปฏิบัติมาตรการ UP และมาตรการ DMHTA อย่างเคร่งครัด รวมถึงต้องมีการบันทึกประวัติผู้เข้าร่วมงานไว้มากกว่า 14 วัน
– มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) ในการจัดประชุม สัมมนา
มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ คือ จัดอุปกรณ์รับประทานอาหาร เครื่องดื่มเฉพาะบุคคล และบริการอาหารแบบชุดเดี่ยว และลดการใช้เอกสาร หรืออุปกรณ์ที่ต้องสัมผัส โดยให้ใช้ระบบออนไลน์ QR Code แทน รวมทั้งกระจายจุดลงทะเบียน จุดบริการอาหารว่างและเครื่องดื่ม และมีมาตรการห้ามการรวมตัวกันจุดใดจุดหนึ่ง
ทั้งนี้ ต้องให้มีการระบายอากาศที่ดี โดยความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต้องไม่เกิน 800 ppm หรือมีอัตราการระบายอากาศ 5-6 ACH นอกจากนี้ ผู้จัดงานต้องทำการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม T5C2+ และเลือกสถานที่จัดงานที่ผ่านมาตรฐาน TSC+, SHA+,TMVS หรือ 2HY
มาตรการด้านผู้ให้บริการ คือ พนักงานทุกคนฉีดวัคซีนครบโดส หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อโควิดมาก่อนอยู่ในช่วง 1-3 เดือน หรือคัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวัน ด้วย TST หรือ แอปพลิเคชันอื่นๆ หรือจัดหา ATK ให้พนักงานตรวจทุก 7 วัน โดยเฉพาะพนักงานต้อนรับ และพนักงานทำความสะอาดที่ต้องใกล้ชิดกับผู้รับบริการ นอกจากนี้ ต้องกำหนดโซนปฏิบัติงานให้ชัดเจน งดรวมกลุ่มขณะปฏิบัติงาน หรือระหว่างพัก รวมทั้งมีผู้รับผิดชอบกำกับติดตามพนักงานทุกคน
ส่วนมาตรการด้านผู้รับบริการ คือต้องคัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าประชุม ด้วย TST หรือแอปพลิเคชันอื่นๆ มีการกำกับให้ปฏิบัติมาตรการ UP และมาตรการ DMHTA อย่างเคร่งครัด รวมทั้งต้องเปิดประตู หน้าต่าง ก่อนและหลังการประชุม หรือเท่าที่เป็นไปได้ รวมทั้งต้องบันทึกประวัติผู้เข้าร่วมประชุมไว้มากกว่า 14 วัน นอกจากนี้ ควรฉีดวัคซีนครบโดส หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อในช่วง 1-3 เดือนหรือ ATK เป็นลบไม่เกิน 7 วัน กรณีที่มีผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้าร่วมงาน ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด
– มาตรการยกระดับป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในตลาดสด
มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ คือต้องมีการปกปิดอาหารปรุงสำเร็จ และมีอุปกรณ์สำหรับหยิบจับอาหาร มีมาตรการห้ามมีการรวมตัวพูดคุยกัน และจัดให้มีการระบายอากาศที่เพียงพอ ทั้งนี้ สถานประกอบการต้องทำการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม TSC+ และควบคุมกำกับให้พนักงานประเมินตนเองผ่าน TST
มาตรการด้านผู้ให้บริการ คือ ผู้ขายฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ หรือมีประวัติการติดเชื้อมาก่อนไม่เกิน 3 เดือน หรือคัดกรองความเสี่ยงผู้ค้าทุกวันด้วย TST หรือแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่ราชการกำหนด
ส่วนมาตรการด้านผู้รับบริการ คือ ต้องคัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าพื้นที่ ด้วย TST หรือแอปพลิเคชันอื่นๆ งดการรวมกลุ่มซื้อสินค้า และรับประทานอาหาร มีการกำกับให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTA อย่างเคร่งครัด และเลือกวิธีการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อลดการสัมผัส
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ต.ค. 64)
Tags: COVID-19, lifestyle, เกียรติภูมิ วงศ์รจิต, โควิด-19