พร้อมแล้วกับการเปิดฉากนำธุรกิจทีวีดิจิทัล “ช่องวัน31” และธุรกิจภายใต้การบริหารในเครือของกลุ่ม บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ (ONEE) จัดขบวนสื่อและความบันเทิงครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การสร้างสรรค์และผลิตรายการ จนถึงปลายน้ำคือการเป็นเจ้าของช่องสื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เดินพาเหรดสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ปลายปีนี้
ภายหลังปรับโครงสร้างธุรกิจเป็น Holding Company ถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ ด้วยการนำทัพของ นายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ONEE หลังจากผ่านบทพิสูจน์ฝ่าฟันกับมรสุมที่ถาโถมเข้ามาในอุตสาหกรรมสื่อทีวีดิจิทัลตลอด 7 ปีที่ผ่านมาจนสามารถยกระดับกลายเป็นช่องทีวีดิจิทัลที่มีเรตติ้งติดอันดับต้นๆ และมีผลประกอบการทำกำไรต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน
แผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ ONEE ครั้งนี้แต่งตั้ง บล.เกียรตินาคิน ภัทร เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อเสนอขายหุ้นไม่เกิน 496,250,000 หุ้น ประกอบด้วย หุ้นสามัญที่ออกใหม่ที่เสนอขายโดย ONEE ไม่เกิน 476,250,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมของ ONEE ที่อาจเสนอขายโดย บริษัท ซีเนริโอ จำกัด ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าของบริษัท ไม่เกิน 20,002,500 หุ้น มีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 2.00 บาท สำหรับราคาเสนอขายหุ้นต่อประชาชนจะมีการกำหนดต่อไป
ทั้งนี้ ภายหลังการ IPO สัดส่วนการถือหุ้นของ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) ที่ถือใน ONEE จะลดลงจาก 31.27% เป็นไม่ต่ำกว่า 25.02%
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ONEE เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ต้องยอมรับว่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมทีวีบ้านเรา เพราะนอกเหนือจากรูปแบบคอนเทนต์ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วแล้ว พฤติกรรมผู้ชมก็เปลี่ยนแปลงรวดเร็วผ่านช่องทางการรับชมรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอีกมากมายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลให้การรับชมสามารถดูย้อนหลังได้ ไม่ถูกจำกัดการรับชมเหมือนในอดีต
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าก่อนหน้านี้ธุรกิจช่องทีวีดิจิทัลจะเกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงจนกลายเป็นสงครามราคา (Price War) ค่าโฆษณาเกิดขึ้น แต่เมื่อเข้าสู่ปีนี้พบว่าภาพรวมสถานการณ์ของช่องทีวีดิจิทัลเริ่มเข้าสู่ภาวะสมดุล สะท้อนได้จากผู้ที่อยู่รอดและไม่รอดในอุตสาหกรรม โดยผู้อยู่รอดมีการจัดอันดับเรตติ้งของวงการทีวีอย่างชัดเจน
นายถกลเกียรติ เชื่อว่าสถานการณ์นี้น่าจะยังมีให้เห็นต่อเนื่องในปีถัดๆไป แม้ว่าภาพรวมธุรกิจช่องทีวีดิจิทัลอาจไม่ได้เติบโตแบบหวือหวานัก แต่ก็นับเป็นสื่อที่มีความมั่นคงและแข็งแรง ขณะที่ ONEE มีการกระจายเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นตัวแปรหลักที่จะสร้างโอกาสเติบโตโดดเด่นในอนาคต
“บางคนบอกเราโชคร้ายที่ประมูลช่องทีวีดิจิทัลมาได้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว แต่โดยส่วนตัวมองว่าเป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะเรามองตัวเองเป็น Content Creator ที่มีประสบการณ์มากกว่าเป็นแค่ช่องทีวีเพียงอย่างเดียว แม้ว่าวันนี้คนที่รับชมทีวีจะลดน้อยลงกว่าในอดีต แต่แพลตฟอร์มทีวีก็ยังมีมูลค่าตลาดที่ใหญ่ และเราเองก็ปรับตัวหันขยายเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ มากขึ้นเพื่อสร้างรายได้จากคอนเท้นต์ของเรา
ส่วนการขยายฐานผู้ชมให้เพิ่มขึ้นนั้น กลยุทธ์สำคัญที่สุดคือการผลิตคอนเท้นต์เพื่อตรงกับกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน แตกต่างกับแนวทางในอดีตยกตัวอย่างละครดังมีผู้รับชมกันทั่วประเทศ แต่สมัยนี้คอนเท้นต์ต้องเจาะกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจง ดังนั้นการผลิตคอนเท้นต์ขึ้นมาต้องคิดเสมอว่าเราจะผลิตออกมาเพื่อให้ใครดู และคอนเท้นต์นี้ก็จะถูกขยายฐานผู้ชมได้โดยอัตโนมัติ”นายถกลเกียรติ กล่าว
นายอรรณพ เสนะสุทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงินกลุ่ม ONEE เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ภาพรวมย้อนหลังผลประกอบการ 3 ปีที่ผ่านมา ONEE มีแนวโน้มเติบโตอย่างชัดเจน จากปี 61 รายได้ 4,199 ล้านบาท กำไรสุทธิ 72.58 ล้านบาท ,ปี 62 รายได้ 4,818 ล้านบาท กำไรสุทธิ 227.56 ล้านบาท และปี 63 รายได้ 4,875 ล้านบาท กำไรสุทธิ 657.59 ล้านบาท
ปัจจุบัน ONEE กระจายความหลากหลายในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ประกอบด้วย ธุรกิจบริหารช่องทีวี (ONE31) บริษัทเป็นเจ้าของและเป็นรับทำการตลาดและเป็นผู้บริหารช่องทีวี GMM25, ธุรกิจบริหารจัดการคอนเทนต์เพื่อนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ รวมถึงการขยายฐานผู้ชมนำคอนเทนต์เข้าไปในต่างประเทศ, ธุรกิจรับจ้างผลิตคอนเทนต์ให้กับแพลตฟอร์มระดับโลก ตัวอย่างเช่น Netflix เป็นต้น รวมถึงธุรกิจการบริหารจัดการศิลปิน, ธุรกิจจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับคอนเท้นต์หรือศิลปิน, ธุรกิจวิทยุ และ ธุรกิจอีเวนต์
“ภาพรวมโครงสร้างรายได้ในปัจจุบันจากธุรกิจทีวีสัดส่วน 50% ของรายได้รวม แต่ธุรกิจออนไลน์มีการเติบโตโดดเด่นจากเดิมมีเพียง 5-10% ช่วงหลายปีก่อน ปัจจุบันขยับขึ้นมาเป็น 22% และที่เหลือมาจากธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่มสัดส่วน 28%
ดังนั้น การเติบโตช่วงที่ผ่านมาเป็นการสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของ ONEE ที่มีรากฐานคือทีม Content Creator ที่มีประสบการณ์ เพราะแกนกลางหลักธุรกิจอยากให้มองเป็นคอนเทนต์เป็นหลัก เพราะรายได้จากค่าโฆษณาก็เกิดจากเรตติ้งที่ดีของคอนเทนต์ ขณะที่มูลค่าเม็ดเงินของตลาดโฆษณาส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญสื่อทีวีเป็นหลัก”นายอรรณพ กล่าว
นายถกลเกียรติ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มระดับโลกหลายรายเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย เป็นโอกาสผลักดันคอนเทนต์ออกไปสู่สายตาของผู้ชมทั่วโลก ดังนั้น การระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯครั้งนี้ก็จะนำมาลงทุนพัฒนาคอนเทนต์เพิ่มยกระดับก้าวเข้าไปสู่คอนเทนต์ระดับโลก นอกจากนี้ มีแผนนำไปพัฒนาแพลตฟอร์ม OTT ของบริษัทเอง เพื่อนำมาให้ผู้ชมสามารถรับชมคอนเทนต์ย้อนหลังหรือคอนเทนต์ที่ถูกกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 รายการของกลุ่มเดอะวัน ถูกนำไปเผยแพร่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครบทั้ง 10 ประเทศ และในภูมิภาคอื่น ๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สเปน รวมถึงประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และแอฟริกา เป็นต้น
นายถกลเกียรติ กล่าวอีกว่า แม้ว่าปัจจุบันอาจจะคาดเดาการเปลี่ยนแปลงช่องทางการรับชมในอนาคตช่วง 3-5 ปีข้างหน้าได้ลำบาก แต่บริษัทเตรียมความพร้อมทุกๆ ด้าน ทุกๆมิติ ด้านการพัฒนาและผลิตคอนเทนต์ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ชม โดยเฉพาะการนำไปสู่สายตาของผู้ชมทั่วโลก ซึ่งจะเป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญการผลักดันการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต
และข้อได้เปรียบของคอนเทนต์ที่ ONEE กำลังพัฒนาเพื่อไปแข่งขันกับคอนเทนต์ต่างประเทศนั่นก็คือความเป็นไทยที่เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลก ดังนั้น แนวทางการพัฒนาคอนเทนต์ต้องมีความลงตัวเรื่องคุณภาพมาตราฐานสากลผสมผสานกับความเป็นไทยจะเป็นคอนเทนต์ที่บริษัทจำเป็นต้องผลิตเป็นจำนวนมากขึ้นเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายการขยายสู่เวทีโลก
ขณะที่ นายอรรณพ ระบุเสริมว่า ภาพรวมโครงสร้างรายได้ 5 ปีข้างหน้า บริษัทวางแผนปรับมีความสมดุลมากขึ้น ไม่ได้กระจุกตัวแค่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการกระจายการเติบโตในหลากหลายธุรกิจ แบ่งเป็นรายได้จากการขายโฆษณามีสัดส่วน 40-45% ส่วนธุรกิจออนไลน์จะมีสัดส่วนประมาณ 25-28% ส่วนธุรกิจจำหน่ายลิขสิทธิ์ต่างๆ จะมีสัดส่วน 7-10% และรายได้ธุรกิจอื่นๆ ของกลุ่มฯจะอยู่ที่ 12-15% เช่น ธุรกิจอีเวนต์ เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ต.ค. 64)
Tags: IPO, ONEE, คอนเทนต์, ถกลเกียรติ วีรวรรณ, ทีวีดิจิทัล, รายการทีวี, หุ้นไทย, อรรณพ เสนะสุทธิพันธุ์, เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์