นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนก.ย.64 (TCC-CI) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 23-30 ก.ย.64 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 19.4 ลดลงจากระดับ 19.8 ในเดือนส.ค. 64 ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน ซึ่งดัชนีฯ ปรับตัวลดลงในทุกภาค และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 18.9 ลดลงจากเดือน ส.ค.ที่ 19.4, ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 20.3 ลดลงจากเดือนส.ค.ที่ 20.8, ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 23.2 ลดลงจากเดือนส.ค.ที่ 23.7, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 19.5 ลดลงจากเดือนส.ค.ที่ 19.8, ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 18.9 ลดลงจากเดือนส.ค.ที่ 19.3 และภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 16.5 ลดลงจากเดือนส.ค.ที่ 16.9
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนก.ย.ลดลงต่อเนื่องทุกรายการ มาจากความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั้งปัจจุบันและในอนาคต, ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตร, ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้ายังทรงตัวในระดับสูง, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกชนิด เป็นต้น
ขณะที่ปัจจัยบวก เป็นเรื่องของการผ่อนคลายมาตรการในพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น ห้างสรรพสินค้า, ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศเริ่มลดลง, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50%, การส่งออกไทยเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 8.93% และราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ก.ย. พบว่า ดัชนีฯ ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ซึ่งค่อนข้างจะสวนทางกับมุมมองของประชาชนในการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ทั้งนี้ เนื่องจากภาคธุรกิจมองผลกระทบที่เกิดราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น แม้ส่วนหนึ่งภาครัฐจะช่วยตรึงราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรก็ตาม แต่สถานการณ์ดังกล่าว ยังส่งผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบ และค่าขนส่งที่ต้องปรับเพิ่มขึ้นตาม
นอกจากนี้สถานการณ์โควิดในประเทศที่ยังไม่ค่อยคลี่คลาย ย่อมมีผลต่อกำลังซื้อที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ในขณะที่ภาคธุรกิจเองก็ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างทั่วถึง และรัฐบาลก็ยังไม่มีมาตรการใหม่ๆ ออกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้
“ทางผู้ประกอบการมองว่า กำลังซื้อของประชาชนยังซึมตัวต่อเนื่อง จากปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน การจ้างงานที่ยังไม่เต็มที่ นักท่องเที่ยวยังมาไม่เต็มที่ มันเป็นตัวกัดกร่อนโครงสร้างเศรษฐกิจของจังหวัด แม้จะมีการคลายล็อกดาวน์บ้าง แต่ก็ยังไม่ช่วยให้ภาคธุรกิจมีมุมมองเชิงบวก สินเชื่อก็ยังเข้าไม่ถึง รัฐบาลยังไม่มีมาตรการใหม่ๆ ที่หวือหวา ต้องรอดูช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง อบต. เพราะอาจจะมีผลช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้ 2-3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะพลิกเศรษฐกิจในช่วงปลายต.ค.-ปลายพ.ย.นี้ได้ ปัจจัยนี้เป็นตัวกระตุ้น อาจทำให้เศรษฐกิจคึกคักได้บ้าง” นายธนวรรธน์กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้
1. รัฐบาลควรเร่งผ่อนคลายมาตรการให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้เหมือนเดิม หรือใกล้เคียงเดิม
2. เร่งจัดหาวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้ามาใช้ในประเทศอย่างต่อเนื่อง และมีเพียงพอ
3. การออกมาตรการควบคุมหรือผ่อนคลายต่างๆ จากภาครัฐ ควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอย่างชัดเจนและทั่วถึง เพื่อลดความสับสนในการวางแผนล่วงหน้า
4. ออกมาตรการที่รัดกุม พร้อมรองรับกับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาช่วยกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ
5. จัดเตรียมแผนการกักเก็บน้ำ และระบายน้ำให้สมดุล และสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนน้อยที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ต.ค. 64)
Tags: lifestyle, ค่าครองชีพ, ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย, ธนวรรธน์ พลวิชัย, ผลสำรวจ, เศรษฐกิจไทย