ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือน ก.ย.64 ปรับตัวมาที่ 41.4 จากระดับ 39.6 ในเดือนส.ค. 64
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 35.5 จาก 33.8, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ระดับ 37.8 จาก 36.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 50.8 จาก 48.6
โดยมีปัจจัยบวก คือ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนสามารถดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจได้ใกล้เคียงปกติ รวมทั้งขยายเวลาเคอร์ฟิวออกไปเป็น 22.00-04.00 น. โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป, การฉีดวัคซีนของโลกและการฉีดวัคซีนในประเทศที่เริ่มเป็นรูปธรรมและปรับตัวดีขึ้น, ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วย โครงการ “เราชนะ” “ม.33 เรารักกัน” “คนละครึ่งเฟส 3” “ยิ่งใช้ยิ่งได้” “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3” ตลอดจนการเปิดรับนักท่องเที่ยวในโครงการนำร่อง “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” และ “สมุย พลัส”, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี, การส่งออกเดือน ส.ค. ขยายตัว 8.93% และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี
ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน, ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบต่อกากรดำเนินชีวิต ธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ, ระดับระคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง, ผู้บริโภค มีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง ตลอดจนค่าครองชีพและราคาสินค่ายังทรงตัวในระดับสูง, ดัชนี SET INDEX ปรับตัวลดลง 33.07 จุด และ เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการ โดยอนุญาตให้เปิดกิจการ/กิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์ระบาดของโควิดในประเทศก็ดีขึ้น โดยจำนวนผู้ได้รับวัคซีนต้านโควิดเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และคาดว่าจะฉีดได้ครบ 70% ของประชากร ตามเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามใน 3 ปัจจัยสำคัญ ว่าจะมีผลทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนถัดๆ ไปด้วยหรือไม่ คือ 1.สถานการณ์น้ำท่วม จะสามารถคลี่คลายลงได้หรือไม่ 2. ราคาน้ำมันในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่นค่อนข้างมาก และ 3.การเมืองในประเทศ
“ทั้ง 3 ปัจจัยเหล่านี้ จะเป็นตัวกดดันที่ทำให้ดัชนีเชื่อมั่นในอนาคตขยายตัวได้น้อย…ที่ดัชนีฯ ฟื้นขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ก็ถือว่าเริ่มเห็นสัญญาณบวก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการบริโภคจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วมากมายนัก เพราะตอนนี้ดัชนีฯ ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 ค่อนข้างมาก และยังแกว่งอยู่ในแนวใกล้ๆ กับที่เคยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์”
นายธนวรรธน์ ระบุ
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิดทั่วประเทศ การแพร่ระบาดโควิดรอบที่ 4 ว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องหรือไม่ รัฐบาลจะประกาศผ่อนคลายล็อกดาวน์เพิ่มเติมหรือไม่ ตลอดจนรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มเติมหรือไม่ และมากน้อยเพียงใดในไตรมาสที่ 4 เพราะจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้
“ถ้ารัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม มีเม็ดเงินเข้ามาอัดฉีดในระบบมากขึ้น เศรษฐกิจไทยปีนี้ ก็มีโอกาสจะโตได้ 1-1.5% แต่หากน้ำท่วมไม่คลี่คลาย การล็อกดาวน์ทำไม่ต่อเนื่อง เปิดประเทศไม่ต่อเนื่อง เศรษฐกิจก็อาจจะโตได้แค่ 0-1% ขอรอดูสถานการณ์ในช่วงนี้ก่อน และเดือน พ.ย. ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ จะมีการปรับ GDP ใหม่อีกครั้ง”
นายธนวรรธน์ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ต.ค. 64)
Tags: lifestyle, คลายล็อกดาวน์, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค, ธนวรรธน์ พลวิชัย, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ, เศรษฐกิจไทย