บริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ซึ่งเป็นบริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐ ได้สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยการเปิดตัวยาโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) ที่จุดประกายความหวังในการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ได้คร่าชีวิตประชากรทั่วโลกไปกว่า 4.8 ล้านราย
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า เมอร์คได้ตั้งราคายาโมลนูพิราเวียร์ที่เรียกเก็บจากรัฐบาลสหรัฐสูงกว่าต้นทุนการผลิตถึง 40 เท่า
รายงานวิเคราะห์ราคายาโมลนูพิราเวียร์ที่จัดทำโดย Harvard School of Public Health และ King’s College Hospital พบว่า เมอร์คมีต้นทุนผลิตยาโมลนูพิราเวียร์เพียง 17.74 ดอลลาร์ต่อ 1 คอร์ส หรือราว 600 บาท แต่ได้คิดราคาจากรัฐบาลสหรัฐถึงคอร์สละ 700 ดอลลาร์ หรือราว 24,000 บาท ซึ่งสูงกว่าต้นทุนถึง 40 เท่า
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐได้ทำข้อตกลงกับบริษัทเมอร์คเพื่อสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จำนวน 1.7 ล้านคอร์ส ด้วยวงเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์ โดยมีราคาคอร์สละ 700 ดอลลาร์
ยา 1 คอร์สประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน
รายงานดังกล่าวระบุอีกว่า ในช่วงเริ่มแรก รัฐบาลสหรัฐเป็นผู้ให้เงินทุนสนับสนุนแก่บริษัทเอกชนและหน่วยงานหลายแห่งในการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์เพื่อรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ แต่ต่อมาในเดือนพ.ค.2563 เมอร์คได้ซื้อลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการผลิตและจำหน่ายยาโมลนูพิราเวียร์แก่ประเทศต่างๆทั่วโลก
เมอร์คเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตา และสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 50%
การประกาศดังกล่าวของเมอร์คส่งผลให้ประเทศต่างๆทั่วโลกแห่จองซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จากเมอร์ค ซึ่งทางบริษัทคาดว่าจะสามารถผลิตได้ 10 ล้านคอร์สภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้เมอร์คมีรายได้จากการจำหน่ายยาดังกล่าวสูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.4 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี แม้ยาโมลนูพิราเวียร์มีราคาแพงกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาเม็ดรักษาโรคโควิด-19 ที่มีการใชักันในหลายประเทศ แต่ยาโมลนูพิราเวียร์ก็มีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับยาของบริษัท Regeneron ซึ่งมีราคาโดสละ 1,250 ดอลลาร์ ขณะที่ยาของบริษัท GlaxoSmithKline มีราคาโดสละ 2,100 ดอลลาร์
นอกจากนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ยังมีความสะดวกต่อการรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับประทานยาเองที่บ้าน เมื่อเทียบกับการรักษาในปัจจุบันที่ต้องฉีดยาเข้าสู่หลอดเลือดดำของผู้ป่วย
ขณะเดียวกัน เมอร์คระบุว่า ทางบริษัทมีแผนที่จะกำหนดราคายาโมลนูพิราเวียร์โดยอ้างอิงจากการจัดแบ่งกลุ่มประเทศต่างๆตามเกณฑ์รายได้ของธนาคารโลก เพื่อรับประกันการเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์อย่างเท่าเทียมกันสำหรับประเทศต่างๆ และเมอร์คได้ทำข้อตกลงกับบริษัทยาอย่างน้อย 8 แห่งในอินเดียเพื่อผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ในราคาถูกสำหรับการจำหน่ายในอินเดียและกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางจำนวนกว่า 100 ประเทศทั่วโลก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ต.ค. 64)
Tags: Molnupiravir, ยารักษาโควิด-19, เมอร์ค แอนด์ โค, โมลนูพิราเวียร์