ดีอีเอส-ตร. เร่งกวาดล้างดำเนินคดีมิจฉาชีพออนไลน์ หลอกลวงประชาชนสูญเงิน

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วยพล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบช.สอท.)แถลงการหารือแนวทางป้องปราบมิจฉาชีพออนไลน์ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการสืบสวนรวบรวมหลักฐาน และความเข้มข้นในการดำเนินคดีกับมิจฉาชีพและผู้กระทำผิด ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาเป็นช่องทางหลอกลวง ฉ้อโกง ซ้ำเติมความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยเฉพาะในท่ามกลางความยากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า วันนี้ได้มีการประชุมหารือกับแพลต์ฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Facebook Google Line Shopee Tiktok JDเซ็นทรัล และ Lazada เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่เกิดขึ้น ในการวางแนวทางการการป้องกัน ปราบปราม และให้ความรู้แก่ประชาชน

“เรามีแนวทางชัดเจนว่าจะดำเนินการให้มีความเข้มข้นมากขึ้น กระทรวงฯ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ยกระดับการให้บริการประชาชน ผ่านสายด่วน 1212 เว็บไซต์ www.1212occ.com หรือ email: [email protected] ดำเนินการการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หรือความเสียหายจากภัยออนไลน์ รวมทั้งจะมีการส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชนเพิ่มขึ้นด้วย” นายชัยวุฒิกล่าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 63 พบปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ที่ประชาชนร้องเรียน ร้องทุกข์ ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การหลอกลวงทางออนไลน์ การสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้ของ หรือไม่ได้คุณภาพตามที่โฆษณา หลอกลงทุนออนไลน์ แชร์ออนไลน์ กู้เงิน แฮกบัญชี ปลอมแปลงบัญชี หลอกโอนเงิน SMS หลอกกู้เงิน ซึ่งมีผู้เสียหายนับหลายพันคดี มูลค่าความเสียหายหลายร้อยล้านบาท

นายชัยวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อกำหนดลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมาย กรณีฉ้อโกงต่อประชาชนจะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษสูงขึ้นจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 11 ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

และหากการกระทำใดเข้าข่ายหลอกลวง ก็มีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ด้าน พล.ต.ต.ภาณุมาศ กล่าวว่า ล่าสุด บช.สอท. ยังได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และค่ายมือถือต่างๆ วางแนวทางจัดการปัญหา SMS และโทรศัพท์หลอกลวงประชาชน โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกราย จะทำการบล็อก SMS ที่มีเนื้อหาชัดเจนว่าเป็นการหลอกลวงเว็บพนันออนไลน์ หรือลามกอนาจารทันที และเร่งตรวจสอบ กำกับดูแลกันเองอย่างเคร่งครัด และให้ทุกค่ายเริ่มทำการ Backlist ผู้ที่ส่งข้อความหลอกลวง หลังจากที่ได้การแชร์ข้อมูล SMS หลอกลวงระหว่างกันแล้วพบว่ามาจากผู้ส่งรายเดียวกัน

สำหรับกรณีการโทรหลอกลวงประชาชนโดยตรงนั้น ผู้ให้บริการมือถือทุกราย สามารถตรวจสอบการกระทำความผิดได้ชัดเจนเนื่องจากเบอร์โทรศัพท์มือถือที่มิจฉาชีพใช้สามารถตรวจสอบจากการลงทะเบียนได้ว่าใครเป็นเจ้าของเบอร์ ซึ่งถือเป็นหลักฐานที่ระบุต้นทางที่มา ประกอบกับข้อมูลที่ประชาชนให้ข้อมูลการหลอกลวง ส่งคลิป หรือแจ้งเบอร์โทรศัพท์เข้ามาเพื่อเป็นข้อมูล บช.สอท.จะตรวจสอบกับค่ายมือถือ และ สำนักงาน กสทช. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายในการดำเนินคดีเอาผิดกับมิจฉาชีพต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ต.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top