สรท.มั่นใจส่งออกปี 64 โต 12% แต่ยังห่วงปัญหาค่าระวางเรือ-ขาดแคลนตู้สินค้า

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก มั่นใจว่า ภาวะการส่งออกของไทยในปีนี้จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12% มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 260,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.64) มีอัตราขยายตัว 15.25% ขณะที่ยอดนำเข้าขยายตัวมาก

พร้อมทั้งคาดว่ายอดส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะมีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 2.1-2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ส่วนตัวเลขคาดการณ์ส่งออกในปี 65 นั้น แม้จะมีสถาบันทางเศรษฐกิจหลายแห่งได้ประเมินไปแล้ว แต่ สรท.ขอรอดูยอดส่งออกในเดือน ก.ย.-ต.ค.64 ให้แน่ใจก่อนแล้วจะมีการประชุมเพื่อประเมินอีกครั้งในเดือน พ.ย.64 เนื่องจากปัจจัยบวกยังมีความอ่อนไหวสูง

“ถึงแม้ยอดส่งออกเดือนสิงหาคมจะโตแค่ digit เดียว แต่คาดว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายน่าจะอยู่ที่เดือนละ 2.1-2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้มั่นใจกล้าฟันธงว่าการส่งออกปีนี้ทั้งปีโตได้ 12% ถ้าไม่มีอุปสรรคไปมากกว่านี้ ออเดอร์มีแน่นอนแต่ติดปัญหาเรื่องระวางเรือ หากจะให้โตกว่านี้คงเหนื่อย เพราะปัจจัยบวกยังมีความอ่อนไหว” นายชัยชาญ กล่าว

ปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่

1.เศรษฐกิจประเทศคู้ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ฟื้นตัวต่อเนื่องและอุปสงค์ยังคงทรงตัวในระดับสูง จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นของประชาชนในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายการผลิตโลก (World PMI Index) ของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ยังคงทรงตัวอยู่ ณ ระดับ 50 ถึง 60 สะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของกิจกรรมการผลิตและเศรษฐกิจโลก

2.ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากที่สุดในระยะ 4 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ QE เร็วขึ้น และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาดการณ์ รวมถึงความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 ในประเทศไทยที่ยังไม่คลี่คลาย และมีความเป็นไปได้ในการกลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง

ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่

1.สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศ และการกระจายวัคซีนยังไมทั่วถึง แม้จำนวนผู้ติดเชื้อโดยรวมภายในประเทศจะลดลง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ต่างจังหวัดเริ่มเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการกระจายวัคซีนยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งหากภาครัฐไม่สามารถควบคุมการระบาดและไม่สามารถเร่งกระจายวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายวัคซีนสองเข็ม 50 ล้านคนภายในสิ้นปี และหากต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งจะส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และการส่งออกจะไม่สามารถขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้

2.ค่าระวางเรือมีทิศทางทรงตัวในระดับสูงจนถึงปลายปี 65 โดยเฉพาะสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม อาทิ Peak Season Surcharge (PSS) ส่งผลต่อภาระต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ผู้ส่งออกต้องจ่ายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จนอาจเทียบเท่าราคาสินค้า และปัญหา Container Circulation และ Space allocation ส่งผลให้ปริมาณตู้สินค้ายังไม่เพียงพอกับความต้องการส่งออก

3.ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ ชิ้นส่วน, เซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) , เหล็ก ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลรุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 4 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้การส่งออกไม่สามารถเติบโตได้ตามที่คาดการณ์

ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1.เร่งฉีดวัคซีนให้พนักงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้ครอบคลุมโดยเร็วและขอให้รัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและภาคการผลิตที่เริ่มเข้ามาตรการ Factory Quarantine (FQ) หรือ Factory Accommodation Isolation (FAI) ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 Antigent Test Kit (ATK) ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงตั้งต้นของการดำเนินมาตรการ

2.เร่งแก้ไขปัญหาค่าระวางเรือในเส้นทางหลักให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ซึ่งสวนทางกับปริมาณคำสั่งซื้อต่างประเทศยังคงฟื้นตัวในระดับสูงต่อเนื่องและคุณภาพการให้บริการของสายเรือ ในระยะสั้นผู้ประกอบการอาจไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าขนส่งไหวและจะกระทบต่อการส่งออกในภาพรวมของประเทศ

3.เร่งจัดหาแรงงานป้อนเข้าสู่ระบบรองรับการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม

4.เร่งปรับลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัตถุดิบ อาทิ ภาษีสินค้าเหล็ก ชิป วัตถุดิบสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับนำเข้าผลิตเพื่อส่งออก

ด้านนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท.คาดว่า ปัญหาค่าระวางเรือที่ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ และทรงตัวในระดับสูงไปจนถึงปลายปีหน้า ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกมีความกังวลในเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้นเท่าตัวจาก 10-15% เป็น 20-30% และในระยะยาวยังส่งผลต่อความน่าเชื่อถือที่มีต่อผู้ส่งออก

“ขณะที่บริษัทเรือยังมีความยินดีที่มีการปรับค่าระวางเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่คุณภาพในการให้บริการกลับแย่ลง ผู้ส่งออกไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะส่งสินค้าไปถึงจุดหมายได้เมื่อไหร่ ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ” นายคงฤทธิ์ กล่าว

ขณะที่นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน สรท. กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ร้านค้าในต่างประเทศออกมาเตือนลูกค้าให้รีบซื้อของที่จะไว้ใช้ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสต์แต่เนิ่นๆ ซึ่งคาดว่าช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.จะมีความต้องการเรื่องระวางเรือในการส่งออกไปสหรัฐและสหภาพยุโรปจากผู้ส่งออกสูงมากขึ้นอีก

ส่วนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น การที่เงินบาทอ่อนค่าส่งผลดีต่อการแข่งขันของผู้ส่งออก แต่หากอัตราแลกเปลี่ยนไม่เกิดความผันผวนจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า โดยค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับ 33.50-34.00 บาท/ดอลลาร์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top