สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนก.ย.64 อยู่ที่ระดับ 101.21 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 1.68% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.64) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.83%
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ก.ย. 64 อยู่ที่ 100.59 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 0.19% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.23%
ส่วนดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ระดับ 100.86 ลดลง 1.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 0.25% จากเดือนก่อนหน้า ดัชนีหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 101.62 เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.51% จากเดือนก่อนหน้า
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการ สนค.กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ย.64 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 1.68% เป็นการกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัว 0.02% ในเดือนก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากการสิ้นสุดลงของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพทั้งค่าน้ำและค่าไฟ และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงยังสูงต่อเนื่อง
ขณะที่สินค้าอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังเคลื่อนไหวเป็นปกติ และค่อนข้างทรงตัว ยกเว้นสินค้ากลุ่มอาหารสดที่เคลื่อนไหวในทิศทางที่ค่อนข้างผันผวน แต่ส่วนใหญ่ยังมีราคาต่ำกว่าปีก่อน โดยเฉพาะข้าว, ข้าวเหนียว, เนื้อสัตว์, ผักสด และผลไม้สด ยกเว้นไข่ไก่ที่ยังมีราคาสูงกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก แต่แนวโน้มราคาเริ่มลดลงตามลำดับ
อย่างไรก็ดี การที่เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน เช่น ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า, มูลค่าการส่งออกสินค้า, รายได้เกษตรกร, ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง อีกทั้งยังสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 แสดงให้เห็นว่าราคาสินค้า และบริการขั้นสุดท้ายในระยะต่อไปยังมีแรงส่งจากราคาสินค้าในภาคการผลิตบางชนิด ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังและดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ก.ย. 64 สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 5.3% โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมงนั้นลดลง 4.8% ซึ่งลดลงต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก ขณะที่ความต้องการในประเทศยังคงชะลอตัว และการแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่งค่อนข้างสูง
ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนสูงขึ้น 8.6% เป็นการปรับตัวสูงขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า (ยกเว้นหมวดซีเมนต์ และวัสดุฉาบผิวปรับลดลง) โดยเฉพาะหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาในตลาดโลกที่อุปสงค์ในหลายประเทศเริ่มฟื้น นอกจากนี้หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ยังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่ในระดับสูง
ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการพบว่าสินค้าที่ราคาสูงขึ้นจากเดือน ส.ค.64 รวม 114 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง, หัวมันสำปะหลัง, เหล็ก, น้ำตาลทราย และผลปาล์ม น้ำมันปาล์ม เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลงจากเดือนก.ค. 64 รวม 64 รายการ เช่น ข้าวสาร ข้าวเปลือก, สุกร, ยางพารา และทองคำ เป็นต้น ในขณะที่สินค้าและบริการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง มี 323 รายการ
รองผู้อำนวยการ สนค. กล่าวอีกว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาส 4/64 หากไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการอย่างมีนัยสำคัญเพิ่มเติม จะมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะอยู่ในกรอบ 1.4-1.8% ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญจาก 1. แนวโน้มราคาน้ำมันยังอยู่ในทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราเพิ่มที่น้อยกว่าช่วงที่ผ่านมา 2. แนวโน้มสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้ตามลำดับ และ 3. แนวโน้มการอ่อนค่าของค่าเงินบาท ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและขนส่ง
อย่างไรก็ตาม สินค้าในหมวดอาหารสดบางชนิด โดยเฉพาะข้าว ผักสด และผลไม้สด ยังคงมีแนวโน้มต่ำกว่าปีก่อน และมีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ยังคงเป็นความเสี่ยงที่เป็นตัวแปรสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องเฝ้าระวัง และส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับสมมุติฐานสำหรับคาดการณ์เงินเฟ้อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยได้ใช้สมมติฐาน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ที่ 0.7-1.2% ราคาน้ำมันดิบดูไบทั้งปีอยู่ที่ 65-70 ดอลลาร์/บาร์เรล สูงขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน และอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปี 31.5-32.5 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนเช่นกัน
ภายใต้สมมติฐานดังกล่าวนี้ จึงคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 64 จะอยู่ระหว่าง 1.0% บวกลบ 0.2% หรือแคบลงอยู่ในกรอบ 0.8-1.2% จากเดิมคาดการณ์ในช่วง 0.7-1.7%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 64)
Tags: CPI, กระทรวงพาณิชย์, ดัชนีราคาผู้บริโภค, วิชานัน นิวาตจินดา, อัตราเงินเฟ้อ, เงินเฟ้อ